ลุย “สมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอน” หนุนไฟฟ้าสีเขียว เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

Share

Loading

“แม่ฮ่องสอน” จังหวัดเล็ก ๆ ในภาคเหนือของไทยที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อนและรายล้อมไปด้วยป่าต้นน้ำทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ จึงมีเพียงระบบส่งไฟฟ้าขนาด 115 กิโลโวลต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่เชื่อมโยงมาจากจังหวัดเชียงใหม่ด้วยระยะทางกว่า 170 กิโลเมตรเท่านั้น เพราะไม่สามารถก่อสร้างเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงได้พาดผ่านพื้นที่ป่าต้นน้ำได้ ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยครั้ง ยิ่งปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวทั้งภาคธุรกิจและการเดินหน้าสู่เมืองท่องเที่ยวสีเขียวทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

“โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งเป็นโครงการตามแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทยในระยะสั้น พ.ศ. 2560-2564 เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพัฒนาระบบไฟฟ้าของจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นความร่วมมือระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน กระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ กฟภ. เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าดั้งเดิมให้เป็นระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และการเป็นเมืองท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริหารจัดการแหล่งผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี “สมาร์ทกริด”

แม้จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีพลังงานไฟฟ้าหลักมาจากระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. แต่ในพื้นที่ยังมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนแม่สะงาและเขื่อนผาบ่อง โรงไฟฟ้าดีเซล รวมถึงโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ผาบ่องของ กฟผ. เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองหากระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. ขัดข้อง

กฟผ. จึงนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและโรงไฟฟ้าที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ทำงานร่วมกัน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลด้านต่าง ๆ อาทิ ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ขีดความสามารถในการส่งจ่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของชาวแม่ฮ่องสอน จากนั้นระบบควบคุมสมาร์ทกริด (Smart Grid Control Center System) ที่ กฟผ. พัฒนาจะประมวลผลและสั่งการให้แหล่งผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของจังหวัดแม่ฮ่องสอนทำงานร่วมกันอย่างสมดุล มีเสถียรภาพ ซึ่งในช่วงเวลาปกติจะเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าหลักของ กฟภ. ที่จ่ายเข้าสู่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และสามารถแยกตัวเป็นอิสระเมื่อระบบไฟฟ้าหลักขัดข้อง (Islanding Operation)

สร้างแหล่งไฟฟ้าสำรอง เสริมความมั่นคง

นอกจากนี้ กฟผ. ยังดำเนินการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้าสำรองให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีเมื่อเกิดไฟตกไฟดับ ทำให้เมืองแม่ฮ่องสอนยังคงมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จปลายปี 2565

ขยาย Solar Rooftop ลดกำลังผลิตไฟฟ้าระบบหลัก

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีแผนติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop ขนาดกำลังผลิตรวม 200 กิโลวัตต์ ให้กับหน่วยงานราชการในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ทำหน้าที่บริการประชาชน อาทิ เทศบาล โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงาน รวมทั้งลดภาระของระบบส่งและกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบให้กับเมืองแม่ฮ่องสอนอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะจัดเตรียมรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) และสถานีอัดประจุไฟฟ้าไว้ให้บริการประชาชน จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ. แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานและศิลปวัฒนธรรมให้กับผู้สนใจ

โครงการนำร่องการพัฒนาสมาร์ทกริดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น แต่จะเป็นต้นแบบสำคัญของการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่สูงหรือพื้นที่ห่างไกลให้มีความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างมีเสถียรภาพ อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอีกด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/news/local/2465122