การวิเคราะห์เชิงลึกสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองกลุ่ม Aging Society

Share

Loading

การวิเคราะห์เชิงลึกสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองกลุ่ม Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ ปี 63 มีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป 11.6 ล้านคน สัดส่วนคิดเป็น 17.5% ของประชากรทั้งหมด และจะผ่านเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 65 คาดการณ์ว่าในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) แบ่งระดับของสังคมผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ
  • ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
  • ระดับสังคมผู้สูงอายุสุดยอด (Super-aged society) หมายถึง มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยปี 2563 มีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ประมาณ 11.6 ล้านคน สัดส่วนคิดเป็น 17.5% ของประชากรทั้งหมด และจะผ่านเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2565 คาดการณ์ว่า ในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด

หมายความว่า อีกไม่ถึง 10 ปี ข้างหน้า เมื่อเราเดินในห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน เราจะเจอผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป 20 คนใน 100 คน อีก 30 คนอาจเป็นเด็กถึงวัยรุ่น ที่เหลืออาจเป็นวัยกลางคน

ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ให้เหตุผลว่า สมองของผู้สูงอายุยืดหยุ่นมากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดกัน ในวัยนี้ การทำงานของสมองซีกขวาและซ้ายจะสอดคล้องกัน โดยมีการใช้ตรรกะและจินตนาการร่วมกันในการสรุปความคิดหรือการตัดสินใจ

แน่นอนว่าสมองไม่ได้เร็วเหมือนในวัยเยาว์อาจ “คิดช้าแต่แก้ปัญหาได้จริง” เมื่ออายุมากขึ้น เรามักจะตัดสินใจได้ถูกต้องและเปิดรับอารมณ์เชิงลบน้อยลง อาจเนื่องจากประสบการณ์ที่เราเคยพบทำให้เราเริ่ม “หาจุดลงตัวของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

เมื่อเวลาผ่านไป ปริมาณของไมอีลินในสมองจะเพิ่มขึ้น ซึ่ง “ไมอีลิน” คือเยื่อหุ้มเส้นใยประสาทที่ช่วยให้การนำข้อมูลจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทอื่นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เซลล์สมองส่งผ่านข้อมูลที่รับมาจากประสาทสัมผัสทั้งห้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยเหตุนี้ความสามารถทางปัญญาจึงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ IQ แต่อาจเป็น Wisdom ในการแยกแยะ วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์และการตัดสินใจ

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุแบบเราๆ ในอนาคตจะมีการเลือก การวิเคราะห์และการตัดสินใจที่เฉียบคมขึ้น หากเราเป็นเจ้าของธุรกิจ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ แล้วผู้สูงอายุเหล่านี้จะเลือกใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าลักษณะใด เลือกสินค้าแบบไหนและใช้บริการกับธุรกิจใดบ้าง? ซึ่งเราต้องทำการบ้านให้มากขึ้นหากต้องการลูกค้ากลุ่มนี้

ปัจจุบันมีสินค้าสำหรับผู้สูงอายุมากมาย เช่น ถุงเท้ากันลื่นและสามารถปกป้องผิวเท้าได้จากรอยขีดข่วนเล็กน้อย หมอนพลิกที่มีการรองระหว่างขาเพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียงสามารถขยับตัวได้ง่ายขึ้น จักรยานออกกำลังกายแบบพับที่ทำให้บริหารร่างกายแบบปลอดภัย

หรืออ่างสระผมที่รองรับต้นคอทำให้สามารถนั่งสระผมได้นอกห้องน้ำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม สินค้าอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย รถเข็นแบบพกพา ไม้เท้าค้ำยัน ราวจับกันลื่น อาหารโภชนาการสูงและรับประทานได้ง่ายขึ้น

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการได้เล็งเห็นโอกาสของ Aging Society และผลิตสินค้าหรือบริการออกมามากมาย บ้างก็ทำตามสินค้าที่ผลิตมาก่อน บ้างก็มีการสำรวจและวิจัยหาข้อมูลเพื่อทำธุรกิจดังกล่าว แล้วหากเราต้องการจับตลาดนี้ เราจะเริ่มธุรกิจนี้อย่างไรได้บ้าง ทำตามในตลาด (Follower Market) หรือหาช่องว่างทางการตลาดแล้วกลายเป็นผู้นำก่อน (Leader Market)

ในแง่กลยุทธ์การตลาด ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำหรือผู้ตามล้วนสามารถสร้างกำไรและสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไปได้ เช่น การเป็น Follower Market เราอาจทำตามสินค้าในตลาดไปก่อนโดยดูตามส่วนแบ่งของตลาด (Market Share) ว่าสินค้าประเภทใดที่สร้างยอดขายได้มากที่สุด หรือใช้กลยุทธ์หางยาว (Long Tails) เพื่อหาสินค้าที่มีจำนวนที่ผู้ซื้อสนใจแต่อาจไม่ใช่สินค้าหรือบริการที่มี Market Share สูงสุด

จากนั้นจึงทำสินค้าหรือบริการนั้น อาจใช้วิธี Economic of Scale สั่งผลิตจากโรงงานที่ผลิตสินค้านั้นๆ อยู่แล้ว เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต จากนั้นใช้วิธีบริหารจัดการให้สินค้าหรือบริการเรามีต้นทุนที่ต่ำที่สุด ไปสู่การปล่อยสินค้าลงสู่ตลาด

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/tech_innovation/1021614