เยอรมันเปลี่ยนไปใช้ ‘รถไฟพลังไฮโดรเจน’ เป็นชาติแรกในโลก

Share

Loading

วันที่ 24 สิงหาคม 2022 เป็นวันที่โลกต้องจารึกเอาไว้ว่า ที่รัฐซักโซนีล่างของเยอรมนี มีการเปิดใช้รถไฟพลังไฮโดรเจนเป็นคันแรกในโลก

มนุษย์รู้จักไฮโดรเจนมานานแล้วเพราะ มันเป็นธาตุที่มีเยอะสุดในจักรวาล และเราก็รู้วิธีใช้มันมานานแล้วเช่นกัน แค่ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ไม่ได้ใช้ในเชิงครัวเรือน ซึ่งอุปสรรคของการใช้ไฮโดรเจนให้แพร่หลาย หลักๆ มีสองประการ ประการแรกคือความยากในการ ‘สกัด’ มันมาจากสภาพแวดล้อม และใช้พลังงานจำนวนมาก ซึ่งวิธีสกัดมันก็จะให้ เชื้อเพลิงที่เรียกเป็นเป็นไฮโดรเจนสีต่างๆ ตามกรรมวิธีผลิตเช่น ไฮโดรเจนเทา ไฮโดรเจนฟ้า ไฮโดรเจนน้ำตาล ไฮโดรเจนดำ ไฮโดรเจนเหลือง ไฮโดรเจนเทอร์ควอยต์ และ ไฮโดรเจนเขียว ซึ่ง ณ ที่นี้ เราจำง่ายๆ ว่า มันมี ไฮโดรเจนแบบเดียวที่ตอนนี้มนุษย์ต้องการจะผลิต คือไฮโดรเจนเขียว ซึ่งเกิดจากกระบวนการที่เรียกว่า ‘อิเล็คโทรไลซิส’ หรือพูดอีกแบบคือเป็นไฮโดรเจนที่สกัดมาจากน้ำ และสกัดด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งจะบอกว่านี่เป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ก็ได้ เพราะหลายๆ พื้นที่ พบว่าการผลิตพลังงานสะอาดนั้นมันเกินความจำเป็นในการใช้งาน จะเก็บก็ลำบาก มันต้องเอามาใช้ทำอะไร ซึ่งทางหนึ่งก็คือผลิตไฮโดรเจน แต่ผลิตมาก็ต้องมีผู้ซื้อ ตลาดมันก็ต้องค่อยๆ พัฒนาไป และนี่คือเหตุผลที่เยอรมนีเซ็นสัญญาซื้อไฮโดรเจนจากแคนาดาในจำนวนมหาศาล (โดยจะเริ่มนำเข้าในปี 2025)

เยอรมนีนั้นผลิตไฮโดรเจนได้อยู่แล้ว แต่มีแนวโน้มว่าจะผลิตไม่พอใช้ เลยเริ่มเซ็นสัญญาซื้อไฮโดรเจนกับชาติอื่นที่มีศักยภาพผลิตแต่ไม่ได้ใช้ ซึ่งถามว่าทำไมไม่ใช้ อันนี้ก็น่าจะนำมาสู่ปัญหาประการต่อมา

นั่นคือแบตเตอรี่ไฮโดรเจนแพงมากๆ อันนี้เป็นปัญหาคลาสสิคของพลังงานสะอาดทั้งหมด คือการสร้างพลังงานน่ะง่าย ที่ยากคือกระบวนการจัดเก็บใส่ ‘แบตเตอรี่’ ซึ่งพูดง่ายๆ ถ้าแบตเตอรี่มันแพงมากๆ พลังงานสะอาดในรูปแบบนั้น ถึงจะเก็บเกี่ยวได้ง่ายและประหยัดขนาดไหน แต่ถ้า ‘จัดเก็บ’ ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์

และนี่คือปัญหาของพวกพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และจากลมและน้ำในปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแบตเตอรี่ราคาถูกลง

ไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่มันประสบปัญหาเดียวกันเพราะแบตเตอรี่ตอนนี้ราคาแพงมาก แต่ก็คาดว่าราคาจะถูกลงไปในระยะยาว นั่นทำให้บริษัทรถยนต์ชั้นนำในเยอรมันจำนวนมาก เริ่มเดิมพันด้วยการพัฒนารถยนต์พลังไฮโดรเจนกันแล้ว โดยแบรนด์ที่เป็นผู้นำด้านนี้คือ BMW

ทั้งหมดเป็นเรื่องของอนาคตที่ทุกฝ่ายในเยอรมันคาดว่าพลังงานไฮโดรเจนรวมถึงแบตเตอรี่จะราคาถูกลง

แต่คำถามคือ แล้วทำไมวันนี้เยอรมนีถึงกล้าเปิดสายรถไฟใช้พลังงานไฮโดรเจน? เพราะถ้าจะเลือกเส้นทางสายพลังงานสะอาด ทำไมไม่ใช้ไฟฟ้าไปตามปกติ? หรือมันมีอะไรพิเศษ?

เราต้องเข้าใจว่า รถไฟแบบไฟฟ้านั้นใช้พลังงานเยอะมาก เพราะมันไม่ได้แล่นด้วยแบตเตอรี่แบบรถยนต์ แต่มันต้องมีไฟฟ้าเข้าตลอดเวลา และการทำแบบนั้นมันต้องการการวางโครงสร้างใหม่ทั้งระบบ

และมันเลยทำให้การใช้รถไฟพลังงานไฮโดรเจนที่วิ่งบนรางเดิมได้ แต่ใช้ ‘แบตเตอรี่ไฮโดรเจน’ แทน ‘ถังน้ำมันดีเซล’ เป็นทางออกที่สมเหตุสมผลด้านงบประมาณกว่า เพราะสุดท้าย หัวรถไฟใช้พลังงานไฮโดรเจน แม้ว่าแบตเตอรีจะแพง แต่มันก็ยังถูกกว่าการเดินระบบรางใหม่ทั้งแถบเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตร เพื่อจะเปลี่ยนไปใช้รถไฟแบบไฟฟ้า

และนี่ก็คือที่มาของรถไฟพลังงานไฮโดรเจนคันแรกของโลกที่เริ่มวิ่งแล้วที่เยอรมนี

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3438054336520094/