ตอนนี้ประเทศต่างๆ ได้หันมาสนใจนวัตกรรมพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศ มุ่งสู่ความเป็น Smart City ด้วย Smart Energy ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้มีหลายๆ เมืองที่กำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ
และจังหวัดนครสวรรค์ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ร่วมมือกับ ปตท. ในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อก้าวสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ Smart Energy – Smart City ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน การบริหารจัดการพลังงาน ตลอดจนนำยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ มาใช้ส่งเสริมการเดินทางและการขนส่ง เพื่อเป็นต้นแบบด้านพลังงานสะอาด และเป็นแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน
จังหวัดนครสวรรค์ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบนจึงได้รับสมญานามว่าเป็น “ประตูสู่ภาคเหนือ” มีพื้นที่ประมาณ 9,597 ตารางกิโลเมตร หรือ 5,998,548 ไร่ ซึ่งในปี 2563 จังหวัดนครสวรรค์มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม จำนวน 111,441 ล้านบาท เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือรองจากจังหวัดเชียงใหม่ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัว จำนวน 121,070 บาทต่อคนต่อปี พื้นที่ทางเกษตร จำนวน 4,700,565 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 78.36 ของพื้นที่จังหวัด มีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 702 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 92,831 ล้านบาท
เมืองที่มีศักยภาพบวกกับการศึกษาพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด ร่วมกับ ปตท.
จากศักยภาพของจังหวัดนครสวรรค์ ทางจังหวัดจึงได้กำหนดแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศและนำหมุดหมายจากร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 มากำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด หนึ่งในประเด็นการพัฒนาจังหวัดที่สำคัญ คือ ด้านพลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับยานยนต์ไฟฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่จัดขึ้นที่ประเทศสกอตแลนด์ โดยใช้ BCG MODEL ในการพัฒนา
ด้วยศักยภาพของจังหวัดอยู่ในพื้นที่ที่ความเข้มของแสงอาทิตย์ เหมาะสมสำหรับการผลิตพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ประกอบกับมีพื้นที่แหล่งน้ำที่เหมาะกับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์แบบทุ่นลอย หรือ Floating Solar เช่น บึงบอระเพ็ด บึงเสนาท ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งในภาคการเกษตร ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจในพื้นที่โดยรอบ
สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลจากฟางข้าว ในแต่ละปีจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณฟางข้าวกว่า 1 ล้าน 7 แสนตัน สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้กว่า 160 เมกะวัตต์ต่อปี ช่วยลดการเผาเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และในมิติของยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาทดแทนรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันในอนาคตนั้น จังหวัดนครสวรรค์เป็นทางผ่านสู่ภาคเหนือ
และด้วยระยะทาง 239 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานครมาถึงจังหวัดนครสวรรค์เป็นระยะทางที่เหมาะสมสำหรับการจอดพักเพื่อชาร์จพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถขนส่งเชิงพาณิชย์ที่ไม่สามารถจอดพักได้บ่อยแต่จะจอดเฉพาะจุดที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ให้เป็น EV Charging Station Hub จึงถือว่ามีความเหมาะสมและเป็นโอกาสในการพัฒนาเชิงพื้นที่และจะส่งผลไปสู่ภาคธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ
ปตท. นำองค์ความรู้ด้านพลังงาน เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยให้จังหวัดนครสวรรค์ก้าวสู่ Smart City
กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทย รวมถึงต่อยอดธุรกิจด้วยนวัตกรรมที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งทางกลุ่ม ปตท. ได้นำเอาองค์ความรู้ด้านพลังงาน รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสนับสนุนจังหวัดนครสวรรค์โดย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. (the innovative power flagship of PTT Group) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลังงาน พร้อมนำโซลูชั่น และเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย เพื่อให้ตอบโจทย์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลก
โดยเข้าไปร่วมศึกษาและพัฒนาโครงการนวัตกรรมทางด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และในด้านการเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ครอบคลุมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในภาคส่วนต่างๆ เช่น หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ภาคขนส่งและการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ให้พร้อมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต้นแบบด้านพลังงานสะอาด ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชุมชนอื่นๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนได้ต่อไป
แหล่งข้อมูล