กำเนิดอาวุธพิทักษ์โลก นาซ่าเฮลั่นทดสอบเบี่ยงทิศดาวเคราะห์น้อยสำเร็จ

Share

Loading

บีบีซีรายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาหรือนาซ่า ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยเพื่อทดสอบเทคนิคการพุ่งกระแทกเบี่ยงเบนทิศทางกรณีมีวัตถุอวกาศพุ่งมาจะชนโลก

ภารกิจดังกล่าวมีรหัสว่า ดาร์ท (Double Asteroid Redirection Test – DART) มิชชั่น เป็นการทดสอบส่งยานพุ่งเข้าชนด้วยความเร็วกว่า 22,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กับดาวเคราะห์น้อย ไดมอร์โฟส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 163 เมตร อยู่ห่างจากโลกไปราว 11 ล้านกิโลเมตร

การชนกันเกิดขึ้นที่ระบบโคจรดาวเคราะห์น้อย 65803 ดิดีมอส ซิสเต็ม ซึ่งเป็นระบบโคจรแฝด ประกอบด้วยดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง โคจรรอบกันและกัน ได้แก่ ดิดีมอส เอ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 780 เมตร และไดมอร์โฟส ที่ไม่มีพิษมีภัยกับโลก ถูกเลือกเป็นเป้าหมายทดสอบ

การพุ่งชนดังกล่าวถูกถ่ายทอดโดยตรงจากกล้องของยานดาร์ทแบบวินาทีต่อวินาทีเผยให้เห็นดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟสที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งยานพุ่งชนเข้ากับพื้นผิวดาวและวิดีโอลิงค์สัญญาณขาดไปเนื่องจากยานถูกทำลายแล้ว

บรรดาเจ้าหน้าที่ในห้องควบคุมภารกิจที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์เชิงประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อปกินส์ รัฐแมรีแลนด์ (JHU-APL) ลุกขึ้นปรบมือแสดงความดีใจกันอย่างพร้อมเพรียง โดยการคำนวณเบื้องต้นพบว่าคลาดเคลื่อนจากจุดศูนย์กลางของไดมอร์โฟสเพียง 17 เมตร

แม้จะต้องใช้เวลาตรวจสอบยืนยันอีกนานหลายสัปดาห์ถึงความสำเร็จของภารกิจ ทว่า ดร.ลอรี เกลซ ผู้อำนวยการวิทยาดาวเคราะห์ของนาซ่าแสดงความมั่นใจว่าความสำเร็จครั้งใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นแล้วแน่นอน

ดร.เกลซ กล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า “มนุษยชาติกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นยุคที่เผ่าพันธุ์ของเรามีขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติล้างโลกอย่างการพุ่งชนของวัตถุในอวกาศ เป็นสิ่งที่วิเศษมาก เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีขีดความสามารถระดับนี้มาก่อน”

ด้านดร.เอเลนา อดัมส์ วิศวกรควบคุมระบบภารกิจจาก JHU-APL ระบุว่า ชาวดาวโลกทุกคนน่าจะนอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้นแล้วหลังทราบมนุษยชาติตอนนี้มีหนทางในการป้องกันดาวเคราะห์โลก

รายงานระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จะดำเนินการวิเคราะห์ความสำเร็จที่เกิดขึ้นและติดตามการเปลี่ยนแปลงทิศทางการโคจรของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟสที่โคจรรอบดิดีมอส ขณะที่กล้องโทรทัศน์บนพื้นโลกจะสังเกตการณ์เพื่อคำนวณหาค่าดัชนีที่แน่นอนของระบบดาวดังกล่าวต่อไป

ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟสปกติใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง 55 นาที ในการโคจรรอบดิดีมอส โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าไดมอร์โฟสจะใช้เวลาโคจรรอบดิดีมอสน้อยลงหลายนาทีหากการชนของยานดาร์ทเกิดขึ้นจริง

หลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นแรกที่มาจากกล้องของยานดาร์ทแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่นาซ่าวางไว้ โดยยานดาร์ทซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 22,000 กม.ต่อชม. จะต้องแยกแยะเป้าหมายให้ได้ก่อนระหว่างดิดีมอสที่มีขนาดใหญ่และไดมอร์โฟสที่เล็กกว่า

จากนั้นระบบคอมพิวเตอร์บนยานจะใช้แรงดันจากไอพ่นปรับทิศทางยานเพื่อให้พุ่งเข้าชนเป้าหมาย โดยภาพไม่กี่วินาทีก่อนการชนพื้นผิวของไดมอร์โฟสสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักวิทยาศาสตร์เพราะเผยให้เห็นพื้นผิวที่แตกต่างกันระหว่างดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง

ภาพจากกล้องของยานดาร์ทเผยให้เห็นว่า ดิดีมอสนั้นมีรูปทรงเพชร แม้จะมีก้อนหินอยู่บนพื้นผิวแต่ก็มีบางส่วนที่เป็นพื้นราบ เป็นไปตามที่ผู้เชี่ยวชาญคาดไว้ก่อนหน้าทั้งหมด

ดร.แคโรลีน เอิร์นสท์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลอุปกรณ์บนยานดาร์ท กล่าวว่า ไดมอร์โฟสที่ถือเป็นดวงจันทร์ของดิดีมอสนั้นมีขนาดเล็กน่ารัก มีพื้นผิวเต็มไปด้วยเศษหิน คล้ายกับกองหินที่มากระจุกตัวรวมกันอย่างหยาบๆ

ยานดาร์ทแม้เป็นคำย่อแต่ทางผู้ออกแบบนั้นเจตนาให้ย่อแล้วมีชื่อตรงตามหน้าที่ของยาน คือเป็นเหมือน “ลูกดอกปาเป้า”

ดร.แอนดี ริฟกิน ผู้นำภารกิจจาก JHU-APL ระบุว่า ดาร์ทใช้เทคนิคการกระแทกเป้าหมายด้วยพลังงานจลน์ มีประโยชน์สำหรับการรับมือดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งตรงมายังโลกในอนาคต นับเป็นไอเดียที่ไม่ซับซ้อน

ดร.ริฟกิน กล่าวต่อว่า หากมีดาวเคราะห์น้อยที่มีทิศทางพุ่งมายังโลก มนุษย์ก็เพียงส่งยานอวกาศไปพุ่งชนโดยอาศัยหลักการคำนวณพื้นๆ อย่างมวลและอัตราเร็ว เพื่อเบี่ยงเบนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยให้พุ่งเลยผ่านโลกไป

นาซ่าจงใจเลือกไดมอร์โฟสและดิดีมอสเป็นเป้าหมายการทดสอบอย่างระมัดระวังที่สุด โดยดาวเคราะห์น้อยทั้งคู่ไม่ได้มีทิศทางพุ่งมาที่โลก และทิศทางหลังการพุ่งชนของยานดาร์ทก็จะไม่ส่งผลให้ความเสี่ยงอันตรายต่อโลกเพิ่มขึ้นด้วย

ทว่า อวกาศนั้นมีความกว้างใหญ่ไพศาลและยังคงมีดาวเคราะห์น้อยที่ “อาจจะ” พุ่งชนโลกจนก่อให้เกิดอุบัติการณ์ระดับล้างโลกได้ แม้นาซ่าจะสามารถค้นพบพวกมันได้แล้วกว่าร้อยละ 95 แต่ยังมีดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กอีกจำนวนมากที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายสุดขั้วกับโลกได้

วัตถุในอวกาศที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟสหากพุ่งชนโลกจะก่อให้เกิดหลุมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 กม. มีความลึกหลายร้อยเมตร และความเสียหายโดยรอบนั้นมีความรุนแรง จึงนำมาสู่การทดสอบแนวทางการเบี่ยงทิศและลดความเร็วพวกมันลง

โดยการเบี่ยงทิศและปรับเปลี่ยนความเร็วของดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีผลมากนักหากดำเนินการล่วงหน้ากรณีคำนวณพบว่าจะพุ่งชนโลกแน่นอนแล้ว

แม้ภาพจากกล้องของยานดาร์ทจะตัดจบลงที่วินาทีการกระแทกกับพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยไดมอร์โฟสแต่ในช่วงเวลาหลายสัปดาห์ต่อจากนี้นาซ่าและประชาคมโลกจะได้ชมภาพจากยานอวกาศลำอื่นที่คอยสังเกตการณ์การพุ่งกระแทกด้วย

โดยภาพดังกล่าวมาจากดาวเทียมถ่ายภาพ ลิเชียคิวบ์ (LICIACube) อภินันทนาการจากองค์การบริหารอวกาศของอิตาลีที่บันทึกภาพตามหลังยานดาร์ทราว 3 นาที ห่างจากจุดทดสอบไปประมาณ 50 กม. น่าจะเผยให้เห็นทั้งตอนพุ่งกระแทกและร่องรอยการกระแทกบนไดมอร์โฟส

นอกจากนี้ องค์การอวกาศยุโรปหรืออีเอสเอ จะดำเนินการส่งยานสำรวจ 3 ลำ เดินทางไปยังระบบดาวเคราะห์น้อยข้างต้นเพื่อศึกษาเพิ่มเติมภายใต้ภารกิจเฮร่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_7287872