ระยอง เดินหน้าเมืองสีเขียว เล็งสร้าง Metaverse ซื้อขายคาร์บอน ดึงพื้นที่ป่าโกงกาง 500 ไร่ นำร่องเชื่อมโลกจริงกับโลกเสมือนซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมคุย อบท.หาที่รกร้างขยายพื้นที่เพิ่ม หวังลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนโรงงานอุตสาหกรรม 2,532 แห่ง
นายภูษิต ไชยฉ่ำ รองนายกเทศมนตรีนครระยอง และ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทระยองพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยว่า นครระยองมีแนวความคิดการนำเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส (Metaverse) มาใช้เป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโยงโลกจริง กับ โลกเสมือนจริงในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เบื้องต้นจะมีการจดทะเบียนพื้นที่ป่าโกงกาง 500 ไร่ เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตให้กับจังหวัดระยอง พร้อมสร้างเมืองและสภาวะแวดล้อม ระบบนิเวศเมืองสีเขียวให้คนที่สนใจ ทั้งคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ เข้ามาแสดงตัวตน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การจัดกิจกรรม เกม ระบบแลกเปลี่ยนสินค้า ดิจิทัลโทเคน รวมไปถึงซื้อขายคาร์บอนเครดิตบน Metaverse
“เบื้องต้นเราไม่ได้คิดสร้าง Metaverse ขึ้นมาเพื่อเทรดคาร์บอน แต่มองว่าปัญหาสำคัญของนครระยองที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ สิ่งแวดล้อม โดยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งการปล่อยสารเคมี และคราบน้ำมันในทะเล พื้นที่ป่าโกงกางที่เรานำเป็นคาร์บอนเครดิต อาจสร้างมูลค่าไม่มากนัก เพราะเป็นพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นสัญลักษณ์ให้ทุกคนตระหนัก และรับรู้ถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการหารือกับองค์การบริหารงานส่วนท้องถิ่น หรือ อบท. ในการหาพื้นที่รกร้างมาปลูกป่า เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตขึ้นมา”
นายภูษิต กล่าวต่อไปอีกว่าข้อมูลจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ประจำเดือน ส.ค.65 พบว่าพื้นที่จังหวัดระยอง มีโรงงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ สะสม ณ.วันที่ 31 สิงหาคม 2565 จำนวนทั้งหมด 2,532 โรงงาน เงินลงทุนรวมประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยอุตสาหกรรมในจังหวัดส่วนใหญ่เป็นเคมีคอล น้ำมัน พลาสติก ที่มีส่วนสำคัญในการปล่อยคาร์บอน
สำหรับการดำเนินงานการลดการปล่อยคาร์บอนของนครระยอง อยู่ภายใต้แคมเปญ Rayong : Race to Zero & Go Green (New S – Curve) สอดคล้องเทรนด์โลกที่มุ่งไปสู่ Net Zero และนโยบายของรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีประกาศไว้บนเวที Cop26 ที่ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) โดยการดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนของภาครัฐ คือ เทศบาลนครระยอง ได้ให้นักวิจัย ศึกษาอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระยอง วางโรดแมปให้มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอน ศึกษาการคำนวณคาร์บอนเครดิต การร่วมมือภาคีเครือข่าย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เพื่อเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้คาร์บอนเครดิต และมีสังคมการแลกเปลี่ยนความรู้ ก่อนนำไปสู่การสร้างเป็นธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1.5-2 ปี
นอกจากนี้ยังมุ่งการผลักดัน กรีน โมบิลิตี้ โดยนโยบายต่อไปของเทศบาลนครระยอง จะมุ่งไปสู่รถไฟฟ้า โดยขณะนี้มีการจัดซื้อจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้กับเทศกิจ และพยายามจูงใจให้มอเตอร์ไซด์รับจ้างเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า โดยสร้างแอพบริการเรียกรถ หาร้านอาหารมา เพื่อทำให้คนในเมืองเห็นความสำคัญ และสร้างให้เกิดความแตกต่างจากแอพบริการเรียกรถอย่างแกร็บ
ส่วนเอกชน ที่นำโดยบริษัทระยองพัฒนาเมือง มีโครงการ Learning City สร้างการเรียนรู้ให้กับคนในเมือง เรียนรู้เทคโนโลยี เรียนรู้ในสิ่งที่เมืองมีอยู่แล้ว เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นระบบนิเวศการอยู่ร่วมกัน สร้างให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และสังคมที่ดี เพื่อสร้างให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ยังมุ่งการพัฒนา Metaverse ซึ่งเป็นระบบนิเวศใหม่ขึ้นมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการว่าจ้าง บริษัท มัลติเวิร์ส เอ็กเปอร์ท จำกัดเข้ามาออกแบบ และพัฒนา Metaverse ของระยอง ร่วมมือประสานความร่วมมือกับ Metaverse จังหวัดต่างๆ ทั้งเชียงใหม่ คริปโตซิตี้ และเมตาเวิร์ส ขอนแก่น
นายภูมิสันต์ เลิศรัตนนันท์ นักวิจัย (ภาครัฐ/เอกชน) ประจำระยองพัฒนาเมือง กล่าวเสริมว่า Metaverse ที่ระยองกำลังสร้างขึ้นจะมีเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และพื้นที่ป่าโกงกาง 500 ไร่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่วนพื้นที่อื่นจะเปิดให้ประชาชน หรือภาคธุรกิจเข้ามาออกแบบเองว่าต้องการให้เมืองในอนาคตเป็นอย่างไร โดย Metaverse ที่พัฒนาขึ้นไม่ได้มุ่งเฉพาะการสื่อสารเฉพาะการลดการปล่อยคาร์บอนเท่านั้นยังมุ่งการสื่อสารไปยังประชาชน ทั้งคนในพื้นที่ และประชากรแฝง ในเรื่องใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน อาทิ แคมเปญ The Food Miles อยู่ระยองกินระยอง
แหล่งข้อมูล