ทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน บวกกับปัจจัยด้านราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผันผวนอย่างหนัก ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าหันมาผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วยเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar Rooftop เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยได้ติดตั้ง Solar Rooftop บนอาคารต่าง ๆ ภายใน มธ. ศูนย์รังสิต มากถึง 44 อาคาร รวมกำลังผลิตติดตั้ง 6.28 เมกะวัตต์ ทำให้ในบางช่วงเวลาพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จาก Solar Rooftop จึงมีมากเกินความต้องการ
มธ. จึงได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำระบบไมโครกริดและระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวภายใต้โครงการ TU EGAT Energy ซึ่งเป็นโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ที่ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยมีเป้าหมายทดสอบการให้บริการด้านพลังงานทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1) ศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ Peer to Peer 2) โครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่ Net Metering Net Billing 3) นวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงานในไมโครกริด (Micro Grid) และ 4) ระบบกักเก็บพลังงาน
แก้ปัญหาไฟส่วนเกินด้วยระบบบริหารจัดการพลังงาน
กฟผ. นำระบบบริหารจัดการพลังงานการผลิตไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ของอาคารในกลุ่มการเรียนรู้ทางสังคมศาสตร์ จำนวน 8 อาคาร ได้แก่ อาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ อาคารปฏิบัติการคณะวารสารศาสตร์ ศูนย์อาหาร และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในมหาวิทยาลัย โดยเชื่อมต่อกับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่ กฟผ. ติดตั้งไว้
นายหฤษฎ์ เขาหลวง หัวหน้ากองศึกษาการลงทุน ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. อธิบายว่า ระบบบริหารจัดการพลังงานเป็นนวัตกรรมที่ กฟผ. พัฒนาขึ้นในรูปแบบ Web Application เพื่อติดตามการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ก่อนมีโครงการนี้แม้มหาวิทยาลัยจะมีการติดตั้ง Solar Rooftop กระจายทั่วมหาวิทยาลัยและจ่ายไฟฟ้ามายังอาคาร แต่จะไม่ทราบว่าในหนึ่งวันพลังงานที่ผลิตมีลักษณะการใช้งานอย่างไร แต่เมื่อ กฟผ. ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงานจะทราบทันทีว่าการใช้พลังงานในปัจจุบันมีรูปแบบใดบ้างทั้งแบบรายห้อง รายอาคาร และรายกลุ่ม มีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร และสามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากน้อยเพียงใด”
เมื่อโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการใช้ไฟฟ้า ระบบจะสั่งการให้นำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินเหล่านั้นไปกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ รวมถึงในช่วงที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) เวลา 22.00-03.00 น. ซึ่งมีราคาค่าไฟอยู่ที่ 2.61 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ระบบจะสั่งการให้ชาร์จไฟฟ้ากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่แบบอัตโนมัติ เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าที่เก็บไว้ไปจ่ายไฟฟ้าให้กับอาคารเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หรือช่วงที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูง (On Peak) เวลา 14.00-18.00 น. มีราคาค่าไฟอยู่ที่ 4.23 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง จึงสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าเมื่อกำลังผลิตจากโซลาร์เซลล์หายไป
นำร่องซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคาร
นอกจากนี้ กฟผ. ยังนำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Energy Trading ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างอาคารเข้ามาทดสอบในโครงการนี้ด้วย เมื่อบางอาคารผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เกินความต้องการแทนที่จะเก็บไว้ในแบตเตอรี่ก็สามารถขายให้กับอาคารที่ผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงสามารถออกใบเสร็จเมื่อซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแล้วเสร็จ เพื่อรองรับโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ในอนาคตที่จะมีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยกันเองมากขึ้น
ช่วยลดค่าไฟปีละ 4 แสนบาท
ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล แสงอรุณ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านคุณภาพชีวิต มธ. เปิดเผยว่า โครงการ TU EGAT Energy ทำให้ระบบจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 4 แสนบาทต่อปี โดยเฉพาะการกักเก็บพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์เพื่อนำมาใช้ในเวลาที่ต้องการ สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนสู่การเป็น TU Smart City
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความสนใจในด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเตรียมพัฒนาจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมด้านการจัดการพลังงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถตอบโจทย์เชิงนโยบายได้ทั้งระดับองค์กร ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายประหยัดพลังงานของสหประชาชาติ การลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ที่สำคัญทุกอย่างที่เราทำ คือการมีส่วนให้สังคมใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืน”
โครงการ TU EGAT Energy จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาบริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Smart Energy Solution) ของ กฟผ. เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย ลดการใช้พลังงาน ตอบโจทย์เทรนด์การใช้ไฟฟ้ายุคใหม่ที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แหล่งข้อมูล