ในกระบวนการ ‘พิพากษา’ เราย่อมต้องการความยุติธรรมสูงสุด แต่คุณเคยสงสัยไหมว่ามนุษย์เมื่อเทียบกับอัลกอริทึม ใครทำหน้าที่ตัดสินคนได้ดีกว่ากัน?
มีงานศึกษาวิจัยหัวข้อ ‘การตัดสินของมนุษย์และการคาดเดาของเครื่องจักร’ ในปี 2017 โดยนักเศรษฐศาสตร์ เซนดิล มัลเลนาธาน (Sendhil Mullainathan) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ระดับสูง จอน ไคลน์เบิร์ก (Jon Kleinberg), ฮิมาบินดู ลักการาจู (Himabindu Lakkaraju) และ จัวร์ เลสโกเวค (Jure Leskovec) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องการประกันตัว เจนส์ ลุดวิก (Jens Ludwig) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก พวกเขาทำการศึกษาเปรียบเทียบการใช้สมองคอมพิวเตอร์ (Machine learning) กับสมองผู้พิพากษา ในการประเมินว่าควรจะคุมขังผู้ถูกกล่าวหาระหว่างรอการพิจารณาคดีหรืออนุมัติปล่อยตัวชั่วคราว
งานวิจัยนี้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ที่ในแต่ละปีมีคนถูกจับกุมมากกว่า 10 ล้านคน กระบวนการยุติธรรมบ้านเขาคือ หลังจากถูกจับกุม ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะขอประกันตัว โดยไม่ต้องถูกส่งไปคุมขังในเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดี แต่ต้องวางเงินหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งคนที่ไม่มีเงินหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ต้องถูกส่งไปขัง หรือบางกรณีที่ผู้พิพากษาเห็นว่าถ้าให้ประกันตัวแล้วอาจมีผลต่อรูปคดี ก็อาจตัดสินใจไม่ให้ประกันตัวเช่นกัน
งานหนักย่อมตกอยู่บนบ่าของผู้พิพากษา เพราะเขาต้องคิดและพิจารณาด้วยว่า ถ้าปล่อยไปแล้วจะหนีคดีไหม ปล่อยแล้วจะกระทำความผิดซ้ำหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ปล่อย ก็เท่ากับว่าคนคนหนึ่ง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นผู้บริสุทธิ์จริง ก็อาจต้องติดคุกยาว โดยที่อาจมีครอบครัวและลูกเล็กให้ต้องดูแลอยู่ที่บ้านก็ได้ เพราะโดยเฉลี่ยแล้วผู้ถูกกล่าวหาอาจถูกขังในเรือนจำอยู่หลายเดือนกว่าที่จะมีการไต่สวนหรือตัดสินคดี
นักวิจัยใช้นครนิวยอร์กเป็นพื้นที่ทดลอง พวกเขารวบรวมสถิติผู้ต้องหา 554,689 ราย ซึ่งมีการยื่นเอกสารขอประกันตัวระหว่างปี 2008-2013 จากนั้นกลุ่มนักวิจัยมัลเลนาธานได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปป้อนให้กับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบการเรียนรู้ Machine learning ซึ่งเป็นสมองเทียมที่ได้รับคำสั่งให้ประเมินว่าควรอนุมัติการประกันตัวให้ผู้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวคนไหนบ้าง
ข้อมูลที่ป้อนให้กับระบบสมองคอมพิวเตอร์เป็นชุดเดียวกับที่อัยการยื่นให้ผู้พิพากษาพิจารณา อันประกอบด้วยอายุและประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา แล้วให้สมองคอมพ์นั้นวิเคราะห์และทำรายชื่อว่าใครสมควรได้ประกันตัวชั่วคราว จากนั้นจึงนำผลที่ได้จากการประเมินของสมองจักรกลไปเทียบกับคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ เพื่อเทียบว่ารายชื่อผู้ได้ประกันตัวของใครที่กระทำความผิดซ้ำระหว่างถูกปล่อยตัว และมาขึ้นศาลตามนัดมากหรือน้อยกว่ากัน
ผู้พิพากษาและสมองคอมพ์มีข้อมูลประกอบการพิจารณาชุดเดียวกัน รับรู้ประวัติผู้ต้องหาเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันคือผู้พิพากษาจะได้ยินคำแถลงของอัยการและทนายของผู้ต้องหา และได้เห็น ‘สีหน้าท่าทาง’ ของผู้ถูกกล่าวหาด้วยตาตัวเอง
แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือกลุ่มคนที่สมองคอมพิวเตอร์ประเมินให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีสถิติกระทำผิดซ้ำน้อยกว่ากลุ่มคนที่ผู้พิพากษาอนุมัติปล่อยตัวชั่วคราวมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มรายชื่อที่สมองคอมพ์ประเมินเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและไม่ควรปล่อยตัว กลับได้รับการอนุมัติประกันตัวโดยผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์มากถึง 48.5 เปอร์เซ็นต์
ทีมมัลเลนาธานสรุปไว้ว่า “การทดลองดังกล่าวบ่งชี้ว่า ผู้พิพากษาไม่เพียงกำหนดเกณฑ์การคุมขังตัวผู้ถูกกล่าวหาเอาไว้สูง แต่ยังคัดกรองผู้ต้องหาผิดพลาดด้วย… ผู้ต้องหาส่วนน้อยที่ถูกฝากขังนั้นเลือกกระจายความเสี่ยงตามการคาดเดาล้วนๆ”
อีกทั้งมีการอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า “ตัวแปรที่ไม่อาจสังเกตเห็นใดๆ เหล่านี้คือสิ่งซึ่งทำให้ผู้พิพากษาคาดคะเนผิดเพี้ยนไป ไม่ว่าจะเป็นสภาวะภายใน เช่น อารมณ์ หรือว่าลักษณะเฉพาะกรณีซึ่งอาจดูยากเป็นพิเศษ เช่น สีหน้าท่าทางของผู้ต้องหา เหล่านี้ย่อมไม่ได้เป็นแหล่งข้อมูลส่วนตัวมากเท่ากับเป็นแหล่งที่ทำให้หลงคาดเดาผิดไป สิ่งที่สังเกตเห็นกลับสร้างคลื่นรบกวน ไม่ใช่สัญญาณที่แท้”
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การวิจัยที่ทำเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการตัดสินคดีระหว่างคนกับคอมพ์ แต่เป้าหมายคือการพยายามทำความเข้าใจว่า การคาดเดาของสมองคอมพิวเตอร์จะสามารถช่วยให้เกิดความเข้าใจและพัฒนาการตัดสินของผู้พิพากษาได้อย่างไร
ท้ายที่สุด การลดอัตราผู้ถูกคุมขังจะช่วยลดความแออัดในเรือนจำได้ ทั้งยังลดความเสี่ยงที่ผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะกระทำผิดซ้ำหรือหลบหนีก่อนจะมีคำพิพากษาชี้ขาดด้วย
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3463707793954748/