การประกาศเจตนารมณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในเวทีการประชุม COP26 มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตามมาด้วยการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
การค้าในโลกยุคใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ที่มีอยู่ถึง 3 ล้านราย หรือ 99.5% ของวิสาหกิจทั้งหมด มีการจ้างงาน 13 ล้านคน หรือ 72% ของแรงงานในวิสาหกิจทั้งหมด ไม่ปรับตัว อาจทำให้ธุรกิจไม่ได้ไปต่อ เนื่องจากผู้บริโภค ธุรกิจ และอุตสาหกรรมยุคใหม่ มุ่งไปสู่สินค้าและบริการที่สร้างผลกระทบให้โลกน้อยที่สุด ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จีน สหรัฐ อียู ต่างหยิบยกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าที่ต้องผ่านกระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนไม่เกินค่ากำหนด
โดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) และ กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมจีน ได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา ร่วมกันประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการขยะพลาสติก 2020-25 (Action Plan for Plastic Control (2020-2025) ระยะเวลา 5 ปี มีเป้าหมายของการจัดการขยะพลาสติกในภาพรวม ได้แก่ ภายในปี ค.ศ. 2022 ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งจะต้องลดลงอย่างชัดเจน และส่งเสริมให้ใช้สินค้าทดแทนอย่างแพร่หลาย โรงแรมที่มีการจัดลำดับดาว (สูงสุด 5 ดาว) จะไม่มีการจัดชุดผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้งในห้องพัก และภายในปี ค.ศ. 2025 จีนจะขยายการใช้นโยบายดังกล่าวในโรงแรมและธุรกิจ B&B ทั้งหมดในจีน
ส่วนสหรัฐฯ ก็เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนและดำเนินมาตรการด้านพลังงานสะอาด เพื่อบรรลุ Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ ได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยเสนอให้ผู้ผลิตของสหรัฐฯ และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ จะบังคับใช้กับสินค้า อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 และภายในปี 2569 จะขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต ปัจจุบันร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา
เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปเตรียมจัดเก็บภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป โดยจะเริ่มใช้ในปี 2569 นำร่องเก็บภาษีกับสินค้า 8 ชนิด ที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ โดยผู้ประกอบการที่จะส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในยุโรป ต้องแจ้งจำนวนสินค้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดกระบวน การผลิตสินค้านั้นๆ (Carbon Footprint) เพื่อคำนวนมูลเท่าเทียบเท่าเป็นตัวเงินของก๊าซเรือนกระจกนั้นเพื่อชำระให้กับหน่วยงานบริการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป ก่อนที่จะมีการนำเข้าสินค้านั้นเข้าไปขายในประเทศสหภาพยุโรป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปรียบเทียบร่างกฎหมาย CCA ของสหรัฐฯ กับมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป พบว่า ทั้ง 2 มาตรการมีเป้าหมายเดียวกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีส่วนที่แตกต่างกัน อาทิ มาตรการ CBAM จะใช้บังคับกับสินค้านำเข้าเท่านั้น และจะเก็บภาษีคาร์บอนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนร่างกฎหมาย CCA จะใช้บังคับกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และสินค้านำเข้า และจะเก็บภาษีคาร์บอนเฉพาะส่วนที่เกินกว่ากำหนดเท่านั้น
การใช้มาตรการของจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในปี 2564 ไทยมีการส่งออกไปยัง 3 ตลาดดังกล่าวเป็นจำนวน 3.28 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 38.4% ของการส่งออกทั้งหมด ในจำนวนนี้ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อย่างเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม รวมเป็นมูลค่าราว 4.9 แสนล้าน หรือคิดเป็น 14.9% คาดว่าในระยะสั้น สินค้าประเภทพลาสติกมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างสูง นอกจากนี้แนวโน้มมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกยังจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่พลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อการส่งออก อุตสาหกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับ SME ทั้งระบบ ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมรับมือกับการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตทั้งจากประเทศคู่ค้าและจากทางการไทยเอง เนื่องจากธุรกิจที่ปรับตัวได้ก่อนย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่า
ผู้ส่งออกและผู้ผลิตสินค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SME ควรเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าว โดยเร่งปรับกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอน เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการส่งออก นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องเร่งพิจารณายกระดับระบบกลไกราคาคาร์บอนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เพื่อลดภาระการจ่ายภาษี หรือซื้อใบรับรองการปล่อยคาร์บอนที่ผู้ผลิตไทยต้องจ่ายให้กับต่างประเทศด้วย
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2022/10/13/green-sme-and-green-economy/