ควบคุมการใช้ ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data) แบบไหนจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

Share

Loading

เมื่อการใช้ประโยชน์จาก ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ สามารถสร้างรายได้ สร้างชื่อเสียง ขณะเดียวกัน การนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องก็สามารถทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือสูญเสียทรัพย์สินได้ หลายประเทศจึงบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมดูแลการใช้ข้อมูลของภาคส่วนต่างๆ

ตั้งแต่มีการออก กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ General Data Protection Regulation: GDPR ของสหภาพยุโรป และบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 จนถึงการบังคับใช้กฎหมาย PDPA ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ข้อมูลจากเว็บไซต์ของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) ระบุว่า มี 137 จาก 194 ประเทศที่ออกกฎหมายเพื่อปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วนการบังคับใช้กฎหมายแล้ว 57%

กฎควบคุมการใช้ Data มีอิมแพ็กต่อการลงทุน

รู้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าว ส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ กล่าวคือ ทำให้บริษัทข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจอยู่หันมาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในพื้นที่เขตอำนาจศาลและปฏิบัติตาม กฎหมายถิ่นที่อยู่ของข้อมูล (Data Residency Laws) ของรัฐบาลที่ออกกฎหมายให้องค์กรต่างๆ จัดเก็บข้อมูลในประเทศนั้น ซึ่งนอกจาก Data จะต้องจัดเก็บแต่ในประเทศแล้ว ยังต้องมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์และสำนักงานในประเทศอย่างชัดเจนด้วย เช่น จีน รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย ส่วนไทยยังไม่ได้คุมเข้มเท่าเขา (Source: Data Residency Laws by Country: an Overview – InCountry)

MIT Technology Review Insights คาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้ ปริมาณข้อมูลหรือ Data จะเติบโตทวีคูณเสมือนห่าฝน โดยในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นถึง 175 เซตตาไบต์ (ZB) หรือราว 1,000,000,000,000,000,000,000 ไบต์ ซึ่ง Data ปริมาณมหาศาลนี้จะครอบคลุมทุกสรรพสิ่งบนโลก ทั้งเรื่องการใช้ชีวิต สุขภาพ การเดินทาง การทำธุรกิจ การทำธุรกรรม การเข้าถึงแหล่งคอนเทนต์ต่างๆ

เปิดโมเดลธุรกิจใหม่จากการใช้ Data เรียกว่า ‘Regulation as a Services’

Data Regulation ยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุน เนื่องจากบริษัทข้ามชาติต่างๆ ‘สับสนกับกฎหมายของแต่ละประเทศ’ บริษัทที่เห็นโอกาสนี้จึงสร้างโมเดลธุรกิจที่เรียกว่า Regulation as a Services หรือ Data Residency as a Service คือ บริการที่เป็นตัวกลางในการให้คำปรึกษาและจัดการเรื่อง Data Privacy รวมถึงการตีความเอกสารข้อมูลให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศนั้นๆ

3 แกนหลักสำคัญของการใช้ Data เพื่อนำไปสู่ ‘Data Economy’

มีมุมมองจากผู้บริหารธุรกิจบริการด้าน Data Center ในระดับไฮเปอร์สเกล ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ STT GDC Thailand ที่ระบุแกนการนำ Data ไปใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจากการใช้ Data ดังนี้

  • เพื่อความมั่นคงของชาติ (National Security) กับสิทธิปกครอง Data ของเราเอง เนื่องจากประเทศไทยมีการ Consume Data มหาศาล เฉลี่ยใช้อินเทอร์เน็ตสูงกว่าวันละ 7 ชั่วโมง (อ้างอิงข้อมูลจาก ETDA) สำหรับผู้บริโภคทั่วไป เราจึงควรมีสิทธิ์ปกป้อง Data ของเราเอง ในขณะที่ Data ควรอยู่ในประเทศไทย โดยยึด Data Residency Laws ของประเทศนั้นๆ
  • ต้องมีหลักการความเป็นส่วนตัวสำหรับการถ่ายโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังประเทศอื่นๆ (หรือที่เรียกว่า Safe Harbor) ประเด็นนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความมั่นใจว่า ข้อมูลจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในบริบทของการถ่ายโอนระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ต้องเป็น กรอบการทำงานเชิง Data ระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ และเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศคู่ค้า
  • ออกกฎที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน (Commercial & Investment) เนื่องจาก Data is a New Oil ไม่ต่างจากพลังงานอื่นๆ ดังนั้นหลายๆ ประเทศจึงให้ความสำคัญในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Data เพื่อเพิ่มการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น อินโดนีเซียที่ออกกฎว่า จะต้องจัดทำศูนย์ข้อมูลและศูนย์กู้คืนข้อมูลสำรองภายในประเทศ และ Data ต้องอยู่ในประเทศเท่านั้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก

มาตรการส่งเสริมและหลักเกณฑ์ควบคุมการใช้ Data ต่างๆ ของภาครัฐยังส่งผลต่อความท้าทายและโอกาสที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่น่านน้ำทางเศรษฐกิจใหม่ กรณีนี้ ศุภรัฒศ์แนะนำว่า หากภาครัฐปรับนโยบาย 4 ด้าน มาสนับสนุนเพียงเล็กน้อยก็สามารถพาประเทศไปสู่การเป็นผู้นำใน Data Economy ได้ ดังนี้

1 ภาครัฐต้องมี “มาตรการพิเศษ” เพื่อจูงใจผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ให้เลือกลงทุนในประเทศไทย (เหนือกว่าทุกประเทศในทวีปเอเชีย) ต้องมีสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่ากฎหมายการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป (ทั้งกฎหมาย BOI และ EEC)

2 ต้องมีนโยบานด้านพลังงานที่เหมาะสม โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่เป็นทรัพยากรหลักในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ เนื่องจากสถิติในอุตสาหกรรม Data Center ที่ใช้พลังงานในปริมาณไม่ต่างจากอุตสาหกรรมสายการบิน หรือประมาณ 2% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในโลก ดังนั้นนโยบายความมั่นคงด้านพลังงาน การสนับสนุนด้านการผลิตไฟฟ้า แรงจูงใจด้านราคาหรือการจัดสรรหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ จึงเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะพลังงานไฟฟ้า คือ ต้นทุนหลักของสรรพสิ่งในโลกดิจิทัล

3 ปรับกฎหมายหรือกฎระเบียบให้ชัด เปลี่ยนจากการกีดกันตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นการกำหนดแนวทางควบคุมการประกอบกิจการ ซึ่งนอกจากส่งเสริมแล้วยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลากหลาย อาทิ

  • Data Center
  • Automated E-Commerce
  • Industrial Park
  • E-Medical
  • Tourism
  • 5G Smart Farming

4 ใช้เทคโนโลยี เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดัน Data Economy ประกอบด้วย AI, Cloud, และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย (Security Technology) รวมถึง Tokenization ที่เป็นการผสมผสานความสามารถของเทคโนโลยี Blockchain บวกกับ Cryptocurrency ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง Property & Real Estate สมัยใหม่ที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาเพิ่ม

“ถ้าประเทศไทยไม่เริ่มเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก Data ตรงนี้ จะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสด้านการลงทุนใหม่ๆ ในมุมกฎหมายและการจัดทำนโยบายของภาครัฐ สามารถปรับได้ แต่ต้อง ‘สมดุล’ และ ‘ทันสมัย’ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลให้กลายเป็นธุรกิจ S-Curve ของประเทศ โดยมี Data Center เป็น ‘House of Data’ สำคัญ เพื่อนำประเทศไปสู่น่านน้ำเศรษฐกิจใหม่” ศุภรัฒศ์ย้ำ

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังผันผวน ทุกภาคส่วนที่กำลังเดินหน้าทำ Digital Transformation การปรับตัวของภาครัฐ-เอกชน ในเชิงนโยบาย การวางแผน การลงทุน และการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Data Privacy มาใช้ ล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญและส่งผลต่อการขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังมีภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับ Data Privacy ที่สร้างความเสียหายและปั่นป่วนแก่ธุรกิจเป็นระยะ

อำนาจอธิปไตยของข้อมูล (Data Sovereignty) จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรคำนึงถึง และนำมาใช้เพื่อช่วยให้ประเทศเดินหน้าไปกับเทรนด์โลก

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/831545