เป็นเวลาหลายปีแล้วที่นักวิจัยด้านไบโอเมคาโทรนิกส์ (Bio mechatronics) ซึ่งพัฒนาเกี่ยวกับอวัยวะเทียม ได้จินตนาการว่าอุปกรณ์อย่าง เอ็กโซสเกเลตัน (Exo skeleton) ที่เป็นอุปกรณ์สวมใส่บนร่างกายเพื่อทำงานควบคู่ไป เช่น เป็นแขน เป็นขา ช่วยให้ผู้สวมใส่เดินและวิ่งได้เร็วขึ้นโดยใช้ความพยายามน้อยลง จะสามารถนำออกไปใช้ในพื้นที่ด้านนอกหรือโลกแห่งความเป็นจริงได้ เพราะปกติแล้วอุปกรณ์ ที่ใช้ระบบหุ่นยนต์เหล่านี้มักจะใช้ในห้องปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่
ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดย สตีฟ คอลลินส์ รองศาสตรา จารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลของห้องปฏิบัติการไบโอเมคาโทรนิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างรองเท้าบูตหุ่นยนต์ที่มีมอเตอร์ที่ทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อน่อง เพื่อให้ผู้สวมใส่ได้รับแรงผลักดันเป็นพิเศษในทุกขั้นตอน
อุปกรณ์นี้แตกต่างจากเอ็กโซสเกเลตันอื่นๆที่มีอยู่ ทีมอธิบายว่าจากการทดลองบนลู่วิ่ง เอ็กโซสเกเลตันของพวกเขาช่วยประหยัดพลังงานได้ 2 เท่าของเอ็กโซสเกเลตันที่สร้างมาก่อนหน้า เนื่องจากทีมได้วัดแรงและการเคลื่อนไหวของข้อเท้าผ่านอุปกรณ์สวมใส่ที่ให้ความช่วยเหลือที่แม่นยำแก่ผู้ใช้งาน การทำเช่นนี้สามารถควบคุมอุปกรณ์ได้อย่างระมัดระวังขณะที่ผู้สวมใส่กำลังเดินและช่วยให้พวกเขาปลอดภัยโดยไม่สร้างความรำคาญ
ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเอ็กโซสเกเลตันคือการช่วยผู้ที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะผู้สูงวัย ให้สามารถเดินไปไหนต่อไหนได้ตามต้องการ ซึ่งความก้าวหน้านี้ เชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวน่าจะพร้อมสู่ตลาดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แหล่งข้อมูล