เก็บตกงานเสวนา “นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยพัฒนาเมืองที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง?” จากกิจกรรม “WOW Festival 2022 อัศจรรย์เมืองน่าอยู่” ยกระดับเมืองให้เป็น Smart City ที่ดีกับผู้พักอาศัย
คำว่า เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City น่าจะเป็นคำคุ้นเคยที่ได้ยินกันตามสื่อต่างๆ อย่างแพร่หลายในช่วงระยะเวลาไม่นานนี้ นั่นเป็นเพราะประเทศไทยกำลังเดินหน้าพัฒนามุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City เพื่อมุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสอดคล้องกับยุค Thailand 4.0
นิทรรศการ “WOW Festival 2022 อัศจรรย์เมืองน่าอยู่” ถูกจัดขึ้นเพื่อการสร้างความรู้สึกร่วมของทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง โดยเสวนา “นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยพัฒนาเมืองที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง?” ทำให้มองเห็นแนวทางของการแก้ไขปัญหา วิธีการตั้งรับ ตลอดจนการยกระดับเมืองให้เป็น Smart City ที่ดีกับผู้พักอาศัย ซึ่งเสวนาครั้งนี้ได้รวบรวมนวัตกรตัวจริงที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีป้องกันไฟไหม้ การยกระดับความปลอดภัยของอาคาร ที่ทำให้เราได้เห็นถึงเทคโนโลยีที่สำคัญในพัฒนาคุณภาพเมืองแห่งอนาคต
เทคโนโลยีกับชีวิตอวกาศในเมือง
ระบบดาวเทียมมีประโยชน์ในด้านการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง โดย กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ และข้อมูลข่าวสาร NASA (ประเทศไทย) กล่าวว่า การติดตั้งโครงข่าวดาวเทียม LEO (Leo On Earth Orbit) และความสามารถของกล้องติดตั้งดาวเทียมที่ความคมชัดสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เราสามารถได้ภาพแบบเรียลไทม์ ที่สามารถมองเห็นทั้งกรุงเทพมหานคร รถยนต์ คน หรือสิ่งที่เล็กกว่านั้น ซึ่งการใช้ดาวเทียมจะทำให้เกิดความสะดวกให้แก่ชีวิตในเมืองมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ความแม่นยำของทิศทางไปจนถึงการตัดสินใจซื้อบ้าน เช่น เครื่องมือจากดาวเทียมคาดคะเนว่าพื้นที่ตรงไหนน้ำท่วมน้อยที่สุด ทำให้เลือกพื้นที่อาศัยได้ง่ายขึ้น ประโยชน์จากดาวเทียมในการจัดการปัญหาเมืองยังมีอีกหลายประการ โดยจะสรุปไว้ดังนี้
1 GPS: การนำทางที่มีความแม่นยำ แก้ปัญหา Dead Zone
2 Logistics: ระบบการขนส่งทั้งบก ทางน้ำ และทางอากาศ จะจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งที่มีคนขับและแบบไร้คนขับ แต่ใช้สัญญานดาวเทียมเข้ามาช่วย
3 IOT: จะมีข้อมูลของสิ่งต่างๆ ที่เชื่อมตั้งแต่การควบคุมอุณหภูมิตู้เย็นภายในครัวเรือน ตลอดจนตู้เย็นและเครื่องเก็บความเย็น ณ สถานที่ต่างๆ
4 HOI (Human of Internet): ข้อมูลเกี่ยวกับร่างกายตั้งแต่ความดันโลหิต จนถึงคลื่นสมอง สามารถส่งผ่านดาวเทียมและประมวลผลโดย AI เพื่อค้นหาความผิดปกติและแก้ไขได้ทันเหตุการณ์
5 EOS: การมองภาพเมืองแบบเรียลไทม์ที่คมชัด และมองได้หลายวิธี เช่น อินฟาเรด จะทำให้สามารถสังเกตเห็นความไม่ปกติได้อย่างรวดเร็ว เช่น ท่อประปาแตก หรือหม้อแปลงระเบิด
6 Tele Madicine: การส่งภาพและข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ ทำให้เข้าถึงการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล ช่วยลดภาระงานเจ้าหน้าที่
7 Disaster warning and preparedness: ข้อมูลจากดาวเทียมที่แม่นยำเพียงปลายนิ้วสัมผัสทำให้พลเมืองสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพสูง และใช้ในการเตรียมรับมือภัยพิบัติจากปัญหาโลกร้อนได้ดียิ่งขึ้น
8 Rescue: เหตุคนหายหรือจมน้ำสามารถช่วยค้นหาได้ดียิ่งขึ้น
9 Traffic Management: ข้อมูลจากดาวเทียมและการประเมินจาก AI จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาจราจร และช่วยเตือน บรรเทาเหตุ เช่น โศกนาฏกรรมประชาชนเบียดกันที่อิแทวอน
10 Security: สามารถดูความเคลื่อนไหวรอบๆ บริเวณบ้าน และสามารถสังเกตความผิดปกติเมื่อมีคนบุกรุกบริเวณบ้าน
11 Land Management: สามารถเข้าถึงข้อมูลจากดาวเทียมเรื่องการตรวจสอบพื้นที่การซื้อบ้าน อาจจะเป็นข้อมูลย้อนหลังหลายๆ ปี
12 City Planing: ข้อมูลทุกประการของประชาชนที่อาศัยในเมือง ตั้งแต่การเดินทางของคน ความหนาแน่นของพื้นที่นั้นๆ การจราจร รวมถึงผลกระทบต่างๆ จากสภาพอากาศ จะรวมอยู่เป็น Big Data ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาและดูแลเมือง
สถาปัตยกรรมสีเขียวเพื่อความยั่งยืนในการอยู่อาศัย
อรรจน์ เศรษฐบุตร ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีอาคาร ประหยัดพลังงาน และเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า อาคารสีเขียว ไม่ได้เป็นเทรนด์ด้านการออกแบบ ทว่ามันคือ ทุกๆ อย่างที่เกี่ยวกับ “เทคโนโลยีภายในอาคาร” ที่ต้องประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแรงผลักดันให้เราทุกคนต้องหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง
“มาตรฐานของการสร้างอาคาร รวมถึงที่อยู่อาศัยที่กำลังมาแรง อย่าง WELL Building Standard โดยสถาบัน IWBI (International WELL Building Institute) ซึ่งเป็นมาตรฐานแรกของโลกที่ให้ความสำคัญเน้นการส่งเสริมคุณภาพการอยู่อาศัยของผู้คนให้มีสุภาพดี แข็งแรง สามารถต่อสู้กับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมได้” อรรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้ยกแนวทางที่จะทำให้การสร้างอาคารนั้นตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยให้แนวคิดไว้ดังนี้
- สร้างอาคารด้วยวัสดุที่มี Embodied Energy น้อย หรือสร้างด้วยวัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้
- ใช้วัสดุที่ลดพื้นที่การขนส่ง เพราะการขนส่งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและแม่น้ำ
- ออกแบบอาคารให้พอเพียงและประหยัดพื้นที่ และต้องมีการแชร์ Facillity ที่เหมาะสม
- ก่อสร้าง Modular หรือ Prefab หรือ Knock Down เพื่อลดขยะหรือเศสวัสดุ
- ออกแบบให้ประหยัดพลังงานระหว่างการใช้สอย และผลิตพลังงานทดแทนสิ่งที่ใช้ไป
- ประหยัดน้ำ ลดการปล่อยน้ำเสีย (ลดการปล่อยมีเทน)
- ใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงาน
- ใช้วัสดุที่เป็นคาร์บอนซิงค์ เช่น ไม้จากการปลูกป่า
นวัตกรรมป้องกันอัคคีภัย เพื่อเมืองปลอดภัย
พิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร กล่าวว่า ในปัจจุบันเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ในหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร เช่น อาคาร 6 ชั้น สีลมซอย 2, ชุมชนบ่อนไก่, ตึกแถวย่านบางบอน, ตึกแถวสี่คูหาย่านสำเพ็ง, ที่เก็บแบตเตอรี่สำหรับรถกอล์ฟ สมุทรปราการ, ผับชลบุรี และ ตึก EnCo อาคาร A ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและคร่าชีวิตของประชาชน และนักดับเพลิงไปหลายชีวิต เทคโนโลยีป้องกันอัคคีภัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเหตุการณ์จากอัคคีภัยเหล่านี้ ไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากมีมาตรการป้องกันที่ดี และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ก็จะช่วยบรรเทา ทุเลาความเสียหายในการเกิดเหตุ
ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ควรมีความรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกใช้อุปกรณ์และระบบดับเพลิงที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยป้องกันและลดการสูญเสียต่อทรัพย์สินและอันตรายต่อชีวิต ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- อุปกรณ์และระบบเตือนภัย อาทิ อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ ตรวจจับความร้อน แจ้งเหตุเพลิงไหม้
- อุปกรณ์และระบบดับเพลิง อาทิ เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ ระบบดับเพลิงด้วยน้ำ, โฟม, สารสะอาด, ก๊าซ เป็นต้น
“อุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้เป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกันระบบอาคารภายในทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่ควรนำมารื้อด้วยโปรแกรมดิจิทัลเพื่อตรวจสอบอาคารว่าได้มาตรฐานและมีแนวป้องกันการเกิดเหตุหรือไม่” พิชญะ ชี้จุดสรุป
จากประเด็นดังกล่าวทำให้มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองในแต่ละด้าน ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ออกแบบให้เหมาะสม มีประโยชน์ เข้าถึงทุกชีวิต และไม่ธรรมลายสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการขับเคลื่อนเมืองให้เดินไปข้างหน้า สู่เมืองแห่งอนาคตที่ทุกชีวิตมีความสุขดี กินดี และอยู่ดี
แหล่งข้อมูล