เกาะติดพัฒนาการและโฉมหน้า Woven City เมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตของญี่ปุ่น

Share

Loading

นับจากที่เป็นข่าวเมื่อ 2 ปีเศษที่ผ่านมา มาร่วมกันเกาะติดพัฒนาการและโฉมหน้าของเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตที่เรียกว่า Woven City ซึ่งถูกสร้างขึ้นที่บริเวณฐานของภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่น เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการที่มีชีวิตสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนาโดย Woven Planet บริษัทย่อยของโตโยต้า ว่าจะมีความคืบหน้าที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

Woven City ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขาไฟฟูจิในเมืองซูโซโนะ จังหวัดชิซูโอกะ ห่างจากกรุงโตเกียวราว 100 กม. บนพื้นที่เดิมของโรงงานฮิกาชิ-ฟูจิของโตโยต้า มอเตอร์ ตะวันออก ญี่ปุ่น มีขนาดทั้งหมด 708,000 ตร.ม. ในระยะแรกจะมีผู้อยู่อาศัย 360 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้พัฒนาโครงการ ครอบครัวที่มีเด็ก และผู้สูงอายุในชุมชน ขณะที่ในอนาคตภายใน 5 ปีนับจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ตั้งเป้าให้มีผู้อยู่อาศัยราว 2,000 คน ที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองนี้ และใช้ชีวิตในบ้านอัจฉริยะ

เมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตที่ทั่วโลกกำลังจับตานี้มี Bjarke Ingels สถาปนิกชาวเดนมาร์กผู้โด่งดังซึ่งอยู่เบื้องหลังโครงการที่มีชื่อเสียง เช่น 2 เวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ในนิวยอร์กซิตี้ และสำนักงานใหญ่ของกูเกิลในแคลิฟอร์เนียและลอนดอน รับผิดชอบการออกแบบ

“แนวทางของเราขับเคลื่อนด้วยหลักการที่แน่วแน่ 3 ประการ ได้แก่ 1. Human-Centered คำนึงถึงมนุษย์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางและการจัดลำดับความสำคัญตามความต้องการและความชอบของผู้คน 2. Living Laboratory หรือห้องปฏิบัติการที่มีชีวิตซึ่งช่วยให้สามารถทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างราบรื่น และ 3. Ever-Evolving หรือแนวทางการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งเทคโนโลยีและบริการใหม่ดังกล่าวจะต้องเติบโตและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง” ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ Woven City ระบุไว้

Woven City จะนำเสนอการเคลื่อนไหว/การขับเคลื่อน (mobility) ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่ต้องการเป็น “Mobility for All” ด้วยการออกแบบทางหลากหลายประเภทที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางทั้งบนดินและใต้พื้นดิน เพื่อให้มีการสัญจรอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยแยกการขนส่งเชิงพาณิชย์ การขนส่งในเมือง คนเดินเท้า และการขนส่งสาธารณะและส่วนบุคคลออกจากกัน

บนพื้นผิวของเมืองจะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน 3 แบบ แบบแรกสำหรับการเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติ หรือสำหรับยานพาหนะไร้คนขับ อีกแบบหนึ่งสำหรับคนเดินถนน และแบบสุดท้ายสำหรับทั้งคนเดินถนนและการเคลื่อนไหวส่วนบุคคล เช่น รถจักรยาน และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ส่วนใต้พื้นดินจะเป็นเส้นทางเฉพาะสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าซึ่งจะมีการติดตั้งเครือข่ายโลจิสติกส์ของเมืองด้วย

นอกจากนี้ ภายใน Woven City ยังมีนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงหุ่นยนต์ที่มีหน้าที่ในการช่วยเหลือและทำให้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีขึ้น เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ AI ที่สามารถตรวจสอบสุขภาพของผู้อยู่อาศัย และยานพาหนะอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองสำหรับจัดส่งสินค้า ขณะที่เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและพลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นแหล่งพลังงานหลักของเมืองนี้

ที่ Woven City มีความต้องการนวัตกรสูงมาก และนักพัฒนาโครงการนี้มีความกระตือรือร้นที่จะรับฟังความคิดเห็นจากพันธมิตรที่มีศักยภาพในหลากหลายสาขา รวมถึงการศึกษา เกษตรกรรม พลังงาน และการเคลื่อนไหว เป็นต้น

ปัจจุบัน พันธมิตรในด้านพลังงานของเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตนี้คือ ENEOS Corporation ที่จะร่วมกับโตโยต้าในการทำการวิจัยขั้นสูงเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตไฮโดรเจนเพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตและการใช้ไฮโดรเจนที่ปราศจากคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับ Woven City และที่อื่นๆ โดย Woven Planet จะสร้างศูนย์กลางการสาธิตภายในและรอบๆ Woven City เพื่อให้บรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน

ส่วนพันธมิตรด้าน IoT คือ NTT Corporation ที่จะจับมือกับโตโยต้าร่วมกันสร้าง “Smart City Platform” สำหรับเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบก่อนเริ่มดำเนินการใน Woven City และเขตชินากาว่า

ขณะที่พันธมิตรด้านอาหาร ได้แก่ Nissin Foods ที่ได้ริเริ่มข้อตกลงร่วมกับโตโยต้าเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ผ่านการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ด้วยการนำเสนออาหารที่เป็นนวัตกรรมใหม่ของนิชชิน ที่อาศัย ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับการยืดอายุขัยที่มีสุขภาพดี โดยอิงจากวิทยาศาสตร์ทางโภชนาการระดับโมเลกุลล่าสุด เพื่อจัดหา “อาหารโภชนาการที่สมบูรณ์” ในแบบเฉพาะบุคคล อร่อย และดีต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยใน Woven City

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/10/24/wooven-city-japan-smart-city-of-the-future-by-toyota/