ดีอีเอส หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA จับมือ 6 หน่วยงาน นำเสนอถึงความคืบหน้าของ Digital ID ตั้งเป้าคนไทยต้องเข้าถึงหลายบริการได้อย่างไร้รอยต่อ
ดีอีเอส ได้ร่วมมือกว่า 6 หน่วยงานเพื่อแถลงความคืบหน้าของ Digital ID ในประเทศไทย พร้อมตั้งเป้าคนไทยต้องเข้าถึงได้หลายบริการด้วย Digital ID เดียว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานในงาน ได้กล่าวว่า
วันนี้สำหรับคนไทยแล้ว Digital ID หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เพราะทุกกิจกรรมการทำธุรกรรมออนไลน์ในชีวิตประจำวันของเรา ต่างก็มีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะโลก Digital ID ถือเป็น ID หรือ Identity ของเราที่จะช่วยบอกได้ว่า “เราเป็นใคร” ไม่ต่างจากการมี “บัตรประชาชน” บนโลกออฟไลน์ ดังนั้น Digital ID จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เจ้าของ ID ผู้ใช้งาน สามารถเข้าถึงและรับบริการดิจิทัลต่างๆ จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา ปลอดภัยน่าเชื่อถือ ไม่ถูกปลอมแปลง ยกระดับให้บริการทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ ให้มีความคล่องตัว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความแออัด ลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการในระยะยาว เป็นต้น
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการพัฒนาและใช้งาน Digital ID มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การมอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมีกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นที่ปรึกษา โดยเร่งพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล หรือ Face Verification Service (FVS) เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนหรือพิสูจน์ตัวตนด้วยภาพใบหน้าได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่จุดบริการต่างๆ เช่น แอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่อยู่ที่ไหนก็สามารถสมัครใช้บริการได้ ซึ่งระบบ FVS จะช่วยให้การเปรียบเทียบภาพใบหน้าชัดและแม่นยำขึ้น
นอกจากนี้ยังเร่งให้เกิดจัดทำกฎหมายและพระราชบัญญัติต่างๆ เสริมมาตรฐานทางด้านเทคนิคหรือแนวทางการพัฒนาและใช้งานระบบ Digital ID ของประเทศ เพื่อให้การใช้งานมีมาตรฐานระดับสากล จึงได้ร่วมมือกับกระทรวง กรม รวมถึงหน่วยงานราชการและองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงาน จัดทำ “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ.2565 – พ.ศ.2566 หรือที่เรียกสั้นๆว่า “Digital ID Framework” เพื่อการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“เป้าหมายของ Digital ID Framework คือการผลักดันให้บริการ Digital ID ไปถึงมือประชาชน สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชนได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อน มีบริการที่ประชาชนเข้าใช้งานด้วย Digital ID ได้จริง”
ซึ่งวันนี้มีบริการนำร่องต่างๆเกิดขึ้นแล้ว เช่น การยืนยันตัวตนด้วย Digital ID เพื่อยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร การแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเองของกรมการปกครอง หรือ การเปิดบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แต่บริการเหล่านี้จะต้องมีเพิ่มขึ้น หลากหลายขึ้นและพร้อมใช้งานอย่างครอบคลุม
Digital ID Framework ตามแผนในระยะที่ 1 ประกอบด้วย 8 กลยุทธ์ ได้แก่
1.มี Digital ID ที่ครอบคลุมคนไทย นิติบุคคล และคนต่างชาติ พร้อมต่อยอดการใช้งานทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
2.ประชาชนสามารถใช้ Digital ID ที่เหมาะสม เข้าถึงบริการออนไลน์ได้
3.กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลและบริการ สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนคนไทยและคนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย
4.ใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้น ร่วมกับการมอบอำนาจ หากจำเป็น
5.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลนิติบุคคล สนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลด้วย Digital ID
6.ประชาชนเข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐได้ด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อน
7.ETDA ขับเคลื่อนนโยบาย Digital ID ในภาพรวม พร้อมพัฒนามาตรฐานกลางที่หน่วยงานกำกับแต่ละ Sector นำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
8.DGA พัฒนามาตรฐานบริการ Digital ID ของรัฐให้มีมาตรฐาน สอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างรัฐและเอกชนได้
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า
การพัฒนาให้ Digital ID เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่สำคัญ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ มีองค์ประกอบหลากหลายส่วน โดยเฉพาะการให้บริการ Digital ID ของประเทศไทย โดย Digital ID Ecosystem มี 3 แนวทางประกอบด้วย
1.ความปลอดภัย (Safe & Secure) ประกอบด้วย การสร้างมาตรฐานกลางการให้บริการและการเชื่อมต่อ ให้การทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงระหว่างกันได้ ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น การดูแลให้บริการมีมาตรฐาน ต่อยอดด้วยแนวคิด Self-Sovereign Identity (SSI) และ Verifiable Credential (VC) ซึ่งจะมีแนวทางพัฒนาที่ทำให้ผู้ใช้บริหารจัดการ ID ของตัวเองได้ดีขึ้น และควบคุมการใช้งานได้ด้วยตนเอง
2.ราคาเหมาะสมทุกคนใช้งานได้ (Reasonably + Affordable + Accessible) โดยการกำหนด Business Model ที่ยั่งยืน เพื่อให้บริการ Digital ID สามารถให้บริการกับประชานในระยะยาวและยั่งยืนได้ โดยจะมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้การใช้งาน Digital ID ของประชาชนสะดวกขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
3.ใช้ได้อย่างกว้างขวาง (Widely Available) โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน Digital ID ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต่อยอดการให้บริการ Digital ID ให้ครอบคลุมทั้งนิติบุคคล ชาวต่างชาติ เพื่อขยายเทคโนโลยีและบริการสู่วงกว้างมากขึ้น
แหล่งข้อมูล