สหภาพยุโรป เตรียมชงกฎหมายใหม่ให้อุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่ ต้องเปลี่ยนเองได้ง่าย

Share

Loading

สหภาพยุโรป เริ่มมีความคิดจริงจังมากขึ้นในประเด็นการทำให้แบตเตอรี่ในสมาร์ทโฟนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด เสนอกฎหมายใหม่ให้อุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่ ต้องทำให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนเองได้โดยง่ายที่สุด

สหภาพยุโรป หรืออียู เตรียมเสนอกฎหมายใหม่เกี่ยวกับประเด็นของแบตเตอรี่ ซึ่งกฎหมายใหม่ที่ว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อแบรนด์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะวางจำหน่ายในอนาคต

ประเด็นข้างต้นสหภาพยุโรป มองว่า อุปกรณ์ที่มีแบตเตอรี่อยู่ภายในตัว ฝั่งผู้ผลิตก็ควรที่จะพัฒนาให้มันสามารถเปลี่ยน หรือถอดเปลี่ยนเองได้โดยง่าย เพราะการที่ผู้ผลิตได้นำแบตเตอรี่ที่ถอดเปลี่ยนได้ง่ายมาไว้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะส่งผลในด้านที่ดีในประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) และทำให้ผู้ใช้งานหันกลับมาซ่อมแซมสินค้า มากกว่าที่จะต้องซื้อใหม่ทุกครั้งเมื่อมีปัญหาเรื่องของแบตเตอรี่เสื่อม หรือใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพจากปัญหาของแบตเตอรี่

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อน มือถือฟีเจอร์โฟนของโนเกีย ผู้ใช้งานสามารถรีเซตการใช้งานทั้งหมดได้ เพียงแค่ถอดแบตเตอรี่ออกมา แล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ แต่ในปัจจุบัน แบตเตอรี่ที่ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น LiPo และ Li-ion เป็นแบตเตอรี่ที่มีระดับความยากในการซ่อมแซมอยู่ในระดับที่สูงมาก และส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถซ่อมแซมได้ในระดับศูนย์บริการ

เพื่อส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่อย่างยั่งยืนในอนาคตอันใกล้นี้ สหภาพยุโรป เคยระบุว่า ธาตุอย่างโคบอลต์อย่างน้อย 16%, ตะกั่ว 85%, ลิเธียม 6% และนิเกิล 6% ควรมาจากแหล่งที่รีไซเคิลได้ แน่นอนว่าแนวทางนี้ของสหภาพยุโรป ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เพียงชั่วข้ามคืน โดยสหภาพยุโรป เลือกที่จะให้เวลาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปราว 3.5 ปี หลังจากผ่านกฎหมายเพื่อออกแบบแบตเตอรี่ใหม่ที่ผู้ใช้สามารถถอดและเปลี่ยนได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้บริษัทต่างๆ ทั้งบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องคิดใหม่เกี่ยวกับการจัดหาแบตเตอรี่ การจัดการกับระบบรีไซเคิล และการจัดการด้านห่วงโซ่อุปทานในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค

แหล่งข้อมูล

https://www.thairath.co.th/news/tech/2585570