รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง ยอดจองแต่ละค่ายพุ่งลิ่ว บางค่ายมีคนไปเข้าคิวรอราวกับแจกฟรี แสดงให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวต่อกระแสโลกร้อน ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการตกเทรนด์ยานยนต์ยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม การซื้อรถยนต์ใหม่สักคัน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ราคาค่อนข้างสูง เป็นอุปสรรคสำหรับคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่พร้อมก่อหนี้ผูกพันระยะยาว แต่เมื่อกระแสโลกเปลี่ยน รัฐบาลสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษ นั่นหมายความว่าในอนาคตการใช้รถยนต์สันดาปอาจจะมีเงื่อนไข เช่น การห้ามขับขี่เข้าไปในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น หรือหากอนุญาตให้ขับผ่านได้แต่ต้องเสียค่าผ่านทาง (เหมือนการจ่ายค่าจอด) รวมถึงการหาปั้มเติมน้ำมันที่จะยากมากขึ้น หากปั๊มส่วนใหญ่เปลี่ยนหัวจ่ายจากการเติมน้ำมันมาเป็นระบบเติมไฟฟ้า รวมถึงราคาน้ำมันที่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นับจากวันนี้คือการเริ่มนับถอยหลังของอุตสาหกรรมรถยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาป การผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะหันมาเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงโลกยุคใหม่ แต่อย่างที่กล่าวแล้วว่ายังมีคนจำนวนมาก ไม่พร้อมด้านการเงิน ยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์ระบบสันดาปแบบเติมน้ำมัน และหากจำเป็นต้องเปลี่ยนรถยนต์ก็อาจเลือกซื้อรถยนต์สันดาปมือสองแทนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการเป็นหนี้ระยะยาว ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิดสร้างอุตสาหกรรม EV conversion คือการนำรถเก่ามาดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า นำรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาติดตั้งระบบขับเคลื่อนใหม่ เปลี่ยนจากการเติมน้ำมันมาเป็นระบบไฟฟ้า 100%
ปริพัตร บูรณสิน ที่ปรึกษาสถาบันยานยนต์ไฟฟ้าและนวัตกรรม (Institue for Electric Vehicle Innovation) และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เจ้าของแนวคิดบุกเบิกอุตสาหกรรม EV conversion ในเมืองไทย กล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวว่า เมื่อนโยบายของรัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 จะต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด
แต่การจะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าแบบฉับพลัน อาจจะกลายเป็นการดิสรัประบบอุตสาหกรรมดั้งเดิม ทำลายซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อู่ซ่อมรถยนต์ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ภายในเวลาอันใกล้ ต้องล้มหายตายจากไปโดยไม่มีโอกาสปรับตัว ขณะที่ราคารถยนต์ไฟฟ้ายังค่อนข้างสูง สร้างอุปสรรคต่อกำลังซื้อในภาคประชาชน และถ้าจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าน้อยเกินไป เป้าหมายลดการปล่อยมลพิษและสร้างอุตสาหกรรมของภาครัฐก็จะไม่เป็นไปตามแผน
แต่ถ้าเราสามารถ Transform การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย EV conversion ให้คนสามารถนำรถยนต์เก่ามาเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องก็จะมีเวลาปรับตัวอย่างน้อย 7-10 ปี เพื่อเข้าสู่ซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายไม่แพงในการนำรถเครื่องยนต์สันดาปมาเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ลดภาระการเกิดหนี้ครัวเรือน ผลักดันเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษให้ขับเคลื่อนได้ตามแผน นอกจากนั้น อุตสาหกรรม EV conversion ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก เกิดซัพพลายเชนและผู้ประกอบการในวงจรจำนวนมาก สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนหลายแสนล้านบาทต่อปี
โครงการนี้มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ.เตรียมประกาศมาตรฐาน มอก.เอส ในอุตสาหกรรม “การบริการดัดแปลงรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า” เพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ SMEs หรือวิสาหกิจชุมชน ที่ต้องการเครื่องหมายการันตีสินค้าหรือบริการดัดแปลงรถยนต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค จำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ 1. การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า 2. การบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจ เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคบางส่วน เลือกที่จะนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอยู่ไปดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อรถไฟฟ้าคันใหม่ และเป็นโอกาสของอู่ซ่อมรถ และผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์รายย่อย สามารถสร้างโอกาสในธุรกิจดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) ได้มีโอกาสปรับตัวพัฒนาศักยภาพการให้บริการ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
มาตรฐาน มอก.เอส การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า และ การบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ สมอ. กำหนดขึ้นนั้น เป็นมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ ครอบคลุมการบริการดัดแปลงรถ เพื่อให้สามารถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นเครื่องกำเนิดพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อน เพื่อให้สถานประกอบการที่ให้บริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มีระบบการจัดการคุณภาพการบริการที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะสร้างความเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น และยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยจะประกาศใช้ในปี 2566
ปัจจุบันประเทศไทยมีรถจดทะเบียนในระบบ 41 ล้านคัน แบ่งเป็นรถมอเตอร์ไซค์ 21 ล้านคัน รถยนต์ 20 ล้านคัน ในจำนวนรถยนต์ 20 ล้านคันก็มีหลายประเภท ซึ่งคนไทยใช้รถยนต์เฉลี่ยประมาณ 20 ปี เพราะรถยนต์คันหนึ่งราคาแพงสำหรับครัวเรือนไทย การซื้อรถยนต์หนึ่งคันต้องเป็นหนี้ 7 ปี เพราะฉะนั้นรถยนต์จึงเป็นสินทรัพย์มีค่าที่ต้องบำรุงรักษาเพื่อใช้ให้นานที่สุด การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV conversion จึงเป็นการรักษาธุรกิจดั้งเดิมให้มีเวลาปรับตัว รักษาการจ้างงาน ลดปัญหานี้ครัวเรือน สร้างเศรษฐกิจฐานราก เป็นทางเลือกให้คนที่ยังไม่พร้อมซื้อรถไฟฟ้าคันใหม่ ได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงราคาประหยัด จับต้องได้ และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไร้คาร์บอน
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2022/12/14/ev-conversion-economical-price/