การพัฒนาวีลแชร์รุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยคลื่นสมอง

Share

Loading

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้เราทำได้หลายอย่าง การเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อสื่อสารเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ล่าสุดเทคโนโลยีนี้ได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น เมื่อมันถูกพัฒนาให้สามารถสั่งการรถเข็นได้ด้วยคลื่นสมอง

ผู้พิการและบกพร่องทางการเคลื่อนไหวเริ่มได้รับการเอาใจใส่มากขึ้น จากเสียงสะท้อนปัญหาทั้งในแง่การหางานหรือใช้ชีวิตประจำวัน นั่นทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้นรองรับจนสามารถดำรงชีวิตและใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ติดขัด รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกหลายอย่าง นำไปสู่การพัฒนาวีลแชร์รุ่นใหม่ซึ่งสามารถเชื่อมต่อคลื่นสมองเข้ากับรถเข็นได้โดยตรง

Brain–computer interface รากฐานของอุปกรณ์คลื่นสมอง

ความสำเร็จของอุปกรณ์เชื่อมต่อคลื่นสมองทั้งหลายคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดระบบ Brain–computer interface(BCI) หลายท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะอันที่จริงนี่เป็นเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาครั้งแรกตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แต่ความเสี่ยงจากเทคโนโลยีและความซับซ้อนของสมอง ทำให้แม้เข้าศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม เทคโนโลยีนี้ก็ไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายท่านคงรู้จักหรือเคยเห็นเทคโนโลยีนี้ผ่าน สตีเฟน ฮอว์คิง นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกผู้ป่วยโรค กล้ามเนื้ออ่อนแรง(ALS) ที่สื่อสารผ่านอุปกรณ์ BCI จนสามารถเชื่อมต่อคลื่นสมองออกมาเป็นคำพูดบนหน้าจอ แต่อันที่จริงยังมีการใช้งานเทคโนโลยีนี้ในแนวทางอื่นเช่นกัน

หลายคนอาจเคยได้ยินโครงการเกี่ยวกับ Neuralink ของ อีลอน มัสก์ กันมาบ้าง ที่จะมีการเชื่อมต่อสมองสู่คอมพิวเตอร์ผ่านการผ่าตัดปลูกฝังชิปในสมอง แต่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์เจ้าอื่นก็มีการพัฒนา BCI เช่นกัน อย่าง Philips ที่มีการใช้เทคโนโลยีนี้ในการยืดเวลาหลับลึก พัฒนาคุณภาพในการนอนของคนเราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้เทคโนโลยี BCI ยังได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น ในปี 2021 เริ่มมีการพัฒนาชุดหูฟังไร้สาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่พิการจากโรคหลอดเลือดสมอง อาการบาดเจ็บรุนแรง หรือความผิดปกติทางระบบประสาท ให้สามารถกลับมาขยับมือและแขนได้อีกครั้ง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ช่วยในการกายภาพเพื่อฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนทดลอง

และล่าสุดเทคโนโลยีนี้กำลังได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น สู่รถเข็นที่สามารถขับเคลื่อนจากคำสั่งผ่านคลื่นสมอง

วีลแชร์รุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยคลื่นสมอง

ผลงานนี้เป็นของ University of Texas at Austin อาศัยระบบที่มีความซับซ้อนกว่า BCI ที่เชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ มาเป็น Brain-machine interface (BMI) หรือการเชื่อมสมองสู่เครื่องจักรโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการสามารถควบคุมและบังคับทิศทางรถเข็นได้เองผ่านการคิด

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากข้อจำกัดในการใช้งานและเคลื่อนไหวของผู้พิการ ด้วยการไม่สามาถเคลื่อนไหวได้อิสระจึงหันมาใช้รถเข็นทดแทน แต่เราทราบดีว่าหลายครั้งรถเข็นก็เป็นข้อจำกัดทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตโดยสะดวกแม้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญช่วยทดแทนส่วนที่ขาดหายไปของร่างกาย

โดยขั้นทดลองการใช้งานเกิดขึ้นโดยผู้ป่วยอัมพาตที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลังรุนแรง พวกเขาสวมอุปกรณ์ครอบศีรษะแล้วทดลองใช้งานรถเข็นให้ขยับตาม พบว่ารถเข็นสามารถทำตามชุดคำสั่งจากความคิดได้สะดวก อีกทั้งยังมีหน้าจอแสดงผลเพื่อขึ้นคำแนะนำในการใช้งานรถเข็นอีกด้วย

ข้อดีของอุปกรณ์ชนิดนี้คือ การใช้งานไม่จำเป็นต้องผ่าตัดฝังอุปกรณ์ส่งข้อมูลลงไปในสมองหรือกะโหลก เพียงสวมหมวกขยายสัญญาณไฟฟ้าอย่าง electroencephalogram (EEG) ก็สามารถส่งผ่านสัญญาณสมองไปยังคอมพิวเตอร์ แปลงความคิดให้เป็นชุดคำสั่ง ส่งตรงถึงอุปกรณ์เพื่อให้เกิดการตอบสนองได้ดังใจ

รูปแบบการสั่งใช้งานเองก็มีความคล้ายคลึงคำสั่งให้ขยับมือหรือเท้าจึงใช้งานง่าย สำหรับผู้พิการอาจต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักก็สามารถควบคุมได้อย่างอิสระ โดยบนตัวรถเข็นยังมีเซ็นเซอร์เพื่อตอบสนองการทำงาน รวมถึงซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่ช่วยให้รถเข็นประคองตัวได้ดี ทดแทนคำสั่งของผู้ใช้งานในช่วงแรกที่ยังมีความชำนาญไม่มากอีกด้วย

ดังนั้นนี่อาจเป็นเก้าอี้รถเข็นแห่งอนาคตที่จะช่วยให้ผู้พิการและผู้ป่วยอัมพาตกลับมาเคลื่อนไหวได้ดังใจอีกครั้ง

อนาคตในการเชื่อมต่อกับเครื่องจักร สู่ยุคสมัยที่เราสั่งทุกอย่างได้ดังใจ

ปัจจุบันอุปกรณ์นี้อาจยังอยู่ในขั้นทดลองจำเป็นต้องได้รับการศึกษาพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อให้ออกมาเหมาะสม แต่เราสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่า เมื่อใดก็ตามที่รถเข็นคลื่นสมองนี้ประสบความสำเร็จ จะมีประโยชน์ต่อผู้พิการทั่วโลกอีกกว่า 75 ล้านคนซึ่งใช้งานรถเข็นในปัจจุบัน ยังไม่รวมผู้ป่วยติดเตียงอีกมากมายซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน

แน่นอนการพัฒนารถเข็นเพื่อให้ผู้พิการและผู้ป่วยอัมพาตใช้งานเป็นเพียงขั้นแรก ในอนาคตเทคโนโลยีสามารถนำไปใช้งานได้อีกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การติดตั้งลงบนแขนกลหรือแขนเทียม อาจช่วยให้ผู้พิการสามารถกลับมาหยิบจับสิ่งของ ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติได้ต่อไป

ในด้านคมนาคมเองก็เช่นกันเริ่มมีแนวคิดในการนำ BMI นี้ไปใช้งานในด้านการจราจร หากในอนาคตเราสามารถเชื่อมต่อความคิดเข้ากับเครื่องจักร ไม่แน่ว่าเราอาจสามารถขับรถได้ด้วยการคิดโดยไม่ต้องขยับอุปกรณ์ นี่จะช่วยเพิ่มความสะดวกของรถยนต์หรือยานพาหนะต่างๆ ให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นมาก

อย่างไรก็ตาม BCI และ BMI ยังมีหลายอย่างที่จำเป็นต้องให้คำตอบ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ หากเป็นแต่ก่อนสิ่งที่ถูกเจาะออกไปก็เป็นเพียงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ แต่หากเรานำอุปกรณ์ไปเชื่อมต่อกับร่างกายมนุษย์มากเข้า เป็นไปได้สูงว่าเมื่อเกิดการโจมตี อาจนำไปสู่อันตรายอย่างคาดไม่ถึงทั้งต่อตัวผู้ใช้งานรวมถึงคนรอบข้าง

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลในด้านความมั่นคงด้วยเช่นกัน ข้อมูลส่วนตัวผ่านระบบออนไลน์ทวีความสำคัญขึ้นทุกวันเมื่อมันเข้ามาเกี่ยวพันชีวิตเรามากขึ้น แต่จะเป็นอย่างไรถ้าข้อมูลด้านคลื่นสมองของเราเกิดรั่วไหล? อาจนำไปสู่ผลเสียร้ายแรงในด้านสุขภาพ ความคิด หรือการดำรงชีวิตต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลเสียร้ายแรงได้เช่นกัน

กระนั้นทั้งหมดที่ว่ายังเป็นเรื่องในอนาคตที่เราอาจสามารถรอไปกังวลในภายหลัง การพัฒนาอุปกรณ์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงยังมีความสำคัญมากกว่า หากสามารถทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง นั่นคงเป็นการดีที่สุดแล้ว ทั้งสำหรับสังคม คนรอบข้าง หรือตัวพวกเขาเอง

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/post-next/innovation/688240