“ฮ่องกง” ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองที่มีระบบขนส่งสาธารณะอันดับ 1 ของโลก จากรายงาน Urban Mobility Readiness Index 2022 ของ Oliver Wyman บริษัทที่ปรึกษา และมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา เพราะเครือข่ายการขนส่งสาธารณะของเมืองนี้ได้รับการยกย่องว่าไม่เพียงแต่มีราคาย่อมเยาเท่านั้น แต่ยังมีความหนาแน่นของสถานีสูง และมีโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟที่ดีด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ฮ่องกงจะยืนหนึ่งเหนือตารางจากผลสำรวจนี้ แต่นักวิจัยกล่าวว่ายังคงมีช่องว่างสำหรับการปรับปรุงอยู่ โดยแนะนำว่าสามารถใช้แอปฯ สมาร์ทโฟนจะช่วยให้นักเดินทางสำรวจเมืองได้ดีขึ้น
ตามอินโฟกราฟิกของ Statista ที่แสดงเครือข่ายการขนส่งสาธารณะที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก พบว่าเป็นเมืองส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป เช่น ซูริคมาเป็นอันดับ 2 เช่นเดียวกับสตอกโฮล์ม เฮลซิงกิ (อันดับ 4) ออสโล (อันดับ 5) ปารีส (อันดับ 6) เบอร์ลิน (อันดับ 7) และลอนดอน (อันดับ 8) ในทางกลับกันเมืองส่วนใหญ่ในทวีปอื่นๆ จะอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า เช่น ริยาด (อันดับที่ 57), ไนโรบี (อันดับที่ 59) และเจดดาห์ (อันดับที่ 60) แต่ก็มีบางเมืองในเอเชีย นอกเหนือจากฮ่องกงที่อยู่ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับ 3) และโตเกียว (อันดับ 6 เท่ากับปารีส)
โดยรายงานนี้วิเคราะห์ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่ 60 เมืองทั่วโลก (ไม่ได้ศึกษากรุงเทพมหานคร) โดยจัดอันดับตามโครงสร้างพื้นฐาน ผลกระทบทางสังคม ความน่าดึงดูดใจของตลาด ประสิทธิภาพของระบบ และนวัตกรรมเครือข่าย
สำหรับฮ่องกง ได้นำเสนอหนึ่งในระบบขนส่งสาธารณะที่ดีที่สุดในโลก มีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (MTR) เปิดให้บริการด้วยเครือข่ายหลายชั้นที่ให้บริการมากถึง 166 สถานี และมีความล่าช้าหรือมีการหยุดชะงักของการบริการน้อยมาก อีกทั้งราคาบัตรโดยสารไม่แพง การเข้าถึงแต่ละสถานีไม่ไกลมากนัก ทำให้เดินได้สะดวกสบาย
ขณะที่สถานีเชื่อมต่อเพื่อเปลี่ยนเส้นทางได้รับการออกแบบให้ไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางได้อย่างราบรื่น ส่งผลให้ชาวฮ่องกงเป็นผู้ใช้ขนส่งสาธารณะตัวยงและมีอัตราการการใช้มากที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ความหนาแน่นของประชากรสูงของฮ่องกง ได้ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดลำดับความสำคัญของการขนส่งสาธารณะมากกว่าการสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว และเพื่อรวมเอาระบบรถไฟฟ้าเข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานของเมือง จึงมีการสร้างชุมชนที่อยู่อาศัยและสำนักงานเหนือสถานี รวมถึงมีเครือข่ายร้านค้าปลีกในสถานีเปิดให้บริการกว่า 1,550 แห่ง ณ เดือนธันวาคม 2021 ซึ่งเป็นการปรับการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางด้านการเงิน รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรไปมาและส่งเสริมผู้คนให้เลือกใช้บริการรถไฟฟ้า ฮ่องกงจึงเป็นเมืองที่คนนิยมใช้รถไฟฟ้ามากกว่าที่อื่น โดยในปี 2021 มีผู้โดยสารโดยเฉลี่ยประมาณ 3.9 ล้านคน เดินทางโดยรถไฟใต้ดินในฮ่องกงต่อวัน เพิ่มขึ้น 23.8% จากปีก่อนหน้า แต่จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันของ MTR ในฮ่องกงลดลงอย่างมากในปี 2020 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ผู้โดยสารในปีก่อนหน้า คือ ปี 2019 และ 2018 อยู่ที่ประมาณ 4.6 ล้านคนต่อวัน และ 4.9 ล้านคนต่อวัน ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบกิจการขนส่งสาธารณะของฮ่องกงก็นำผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายทรัพย์สินมาใช้กับโครงการลงทุนก่อสร้างเส้นทางใหม่ โดยโครงการรถไฟและระบบขนส่งสาธารณะของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก แม้จะออกเงินลงทุนเองและกำหนดค่าโดยสารค่อนข้างต่ำก็ตาม ด้วยเหตุนี้ความสำเร็จของฮ่องกงจึงสามารถใช้เป็นแบบอย่างให้กับเมืองอื่นๆ ทั่วโลกได้
นอกจากนี้ ฮ่องกงมีการกำหนดโซนปลอดรถยนต์หลายแห่ง กอปรกับประชากรมีอัตราการครอบครองรถค่อนข้างต่ำ เพราะภาษีที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การซื้อและครองครองรถยนต์มีราคาแพง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะรัฐบาลฮ่องกงมีเป้าหมายในการจำกัดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนในฮ่องกง โดย ณ สิ้นปี 2021 มียานพาหนะดังกล่าวราว 570,000 คัน เท่านั้น โดยมีภาษีการจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อซื้อรถยนต์ ซึ่งมีอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นตามมูลค่ารถยนต์ตั้งแต่ 40-115% และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรายปีอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจสูงถึง 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ขณะที่ราคาแก๊สและน้ำมันก็แพงมากเช่นกัน ทำให้เมืองนี้เป็นมิตรกับคนเดินถนน และผู้คนจำนวนมากนิยมสัญจรด้วยการเดิน
กระนั้น ก็มีความเห็นในอีกด้านหนึ่งว่า จริงอยู่ที่ เอ็มทีอาร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของฮ่องกงจะเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จและทำกำไรได้มาก แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จก็เพราะที่ดินที่ได้รับมาฟรีจากรัฐบาลในฐานะเงินอุดหนุนทางอ้อมสำหรับบริการขนส่งสาธารณะ ไม่ต่างกับ Airport Express ที่ขาดทุน รวมถึงทางรถไฟความเร็วสูงไปยังกวางโจวก็มีแนวโน้มที่จะขาดทุนเช่นกัน
ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟถูกเพราะควบคุมโดยรัฐบาลตามสูตรที่ซับซ้อน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกๆ 2-3 ปี โดยไม่คำนึงว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะทำเงินได้เท่าใด โดย MTR เสนอการอุดหนุนค่าโดยสารเพื่อให้ได้เงินคืนบางส่วน
ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟสายแรกของ MTR เปิดให้บริการในปี 1979 แม้ว่าจะบริหารโดย MTR Corporation Limited แต่รัฐบาลฮ่องกงก็เป็นเจ้าของที่ถือหุ้นใหญ่ โดยถือหุ้นมากกว่า 75%
อีกเหตุผลที่ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะของฮ่องกงรั้งอันดับ 1 ของโลก ก็คือ ต่อให้มีผู้โดยสารหลายล้านคนต่อวัน แต่ MTR ก็ยังเป็นขนส่งสาธารณะที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมาก สามารถพาผู้โดยสารไปได้เกือบทุกที่ในเมืองด้วยการเชื่อมต่อที่สะอาดหมดจด โดยมีอัตราการตรงต่อเวลาสูงถึง 99.9% เลยทีเดียว ด้วยประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมดังกล่าว จึงไม่แปลกใจเลยที่ MTR Corporation จะมีส่วนร่วมในการก่อสร้างและดำเนินการโครงการรถไฟใน 3 เมืองใหญ่ของจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เซินเจิ้น และหางโจว รวมถึงยังสร้างและดำเนินการรถไฟฟ้ารางเบา (MTRCL) ที่มาเก๊า ขณะเดียวกันยังให้บริการรถไฟในลอนดอน สหราชอาณาจักร, สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย รวมถึวมีส่วนร่วมในการก่อสร้างและดำเนินการโครงการรถไฟในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ด้วย
ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่าความแข็งแกร่งของระบบขนส่งสาธารณะในเมืองส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตของคนเมือง ตามที่รายงานนี้อธิบายว่า “ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงกระตุ้นให้พนักงานและนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านเมืองต่างๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้นในการเข้าถึงโหมดการเดินทางประเภทต่างๆ งาน ศูนย์การค้า และอื่นๆ อีกมากมาย”
ที่ผ่านมาการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่ทำงานจากที่บ้านและไม่จำเป็นต้องเดินทางบ่อยอีกต่อไป เป็นเหตุให้รายงานนี้เตือนว่าหากระบบขนส่งมวลชนไม่สามารถทำให้ผู้โดยสารบางส่วนกลับคืนมาใช้บริการได้ แรงงานในระบบนี้อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียงาน เพราะองค์กรในระบบขนส่งมวลชนอาจไม่สามารถหารายได้มากพอที่จะดำเนินการได้อีกต่อไป ซึ่งอาจนำไปสู่การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น ความแออัดของถนนที่เพิ่มขึ้น และมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากขึ้น ตลอดจนมลพิษทางเสียง แสง และอากาศที่เลวร้ายลง
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2022/12/21/hongkong-best-public-transportation-in-the-world/