Busan Eco-Delta Smart City คืออะไร?
Busan Eco-Delta Smart City มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองเฉพาะทางด้านการใช้น้ำให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด (Specialized Water City) โดยการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับน้ำทั้งวงจร (น้ำฝน>แหล่งน้ำ>บำบัดน้ำเสีย>นำกลับมาใช้ใหม่) ปัจจุบันสามารถบำบัดน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% อีกทั้งจะมีการติดตั้งระบบ Smart Water Management และ Smart Water Treatment Plant แห่งแรกในเกาหลีใต้ โดยจะแสดงข้อมูลแบบ real-time เกี่ยวกับปริมาณและคุณภาพของน้ำเพื่อการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพน้ำ ซึ่งจะติดตั้งเสร็จสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ทาง K-Water บริษัทผู้ดูแลภาพรวมการพัฒนาโครงการนี้ แจ้งว่า Busan Eco-Delta Smart City เป็นโครงการเมืองอัจฉริยะนำร่อง (pilot project) แห่งชาติของเกาหลีใต้ ปัจจุบันมีโครงการลักษณะนี้เพียงที่เดียวในประเทศ และขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแผนจะสร้างเพิ่มเติม แต่คาดว่าจะตัดสินใจหลังจากประเมินผลสำเร็จของโครงการนี้
สิ่งที่น่าสนใจใน Busan Eco-Delta Smart City ประกอบด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ส่งเสริมความสะดวกสบายและความยั่งยืนอย่างครบวงจร อันได้แก่
(1) หมู่บ้านอัจฉริยะ ผู้พำนักอาศัยกลุ่มแรกได้ย้ายเข้าหมู่บ้านอัจฉริยะแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2565 โดยในช่วง 5 ปีแรก (ปัจจุบัน – ปี ค.ศ. 2026) ถือเป็นช่วงทดสอบ (living lab) ซึ่งผู้พำนักอาศัยไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน เพียงแต่ต้องให้ feedback เกี่ยวกับการใช้งานระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ในบ้านแก่บริษัท K-Water เพื่อให้บริษัทนำไปพัฒนาระบบต่อไป
(2) Urbantech House เป็นศูนย์สนับสนุนการทำงานของ SMEs และ startups ซึ่งตั้งอยู่บริเวณข้างหมู่บ้านอัจฉริยะ ประกอบด้วย 6 อาคาร ซึ่งมีพื้นที่ เช่น Office co-sharing space Event space ที่พำนักอาศัยให้กับนักธุรกิจ โดยขณะนี้มีบริษัท 19 รายย้ายเข้าไปทำงานใน Urbantech House แล้ว
(3) ระบบขนส่งอัจฉริยะ ที่มีการทดลองใช้จริงภายในเมืองแล้ว เช่น (1) ระบบวงจรปิดอัจฉริยะ (2) รถโดยสารสาธารณะอัจฉริยะ หรือ smart bus ที่สามารถ track จำนวนผู้โดยสารได้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับผู้ปกครองที่ต้องการทราบว่านักเรียนขึ้นรถบัสกลับบ้านหรือยัง (3) ระบบชาร์จรถยนต์ EV (4) ที่จอดรถอัจฉริยะที่สามารถให้ข้อมูลผ่านแอปโทรศัพท์มือถือว่ามีที่จอดว่างกี่ที่ หรือมีที่ชาร์จ EV ว่างกี่ที่ เป็นต้น
(4) เมืองอัจฉริยะผลิตกระแสไฟฟ้าจาก (1) พลังงานแสงอาทิตย์ โดยแผง solar cells บนหลังคาบ้านเรือนในหมู่บ้านอัจฉริยะ (2) พลังงานน้ำและความร้อนใต้พิภพ (Hydrothermal & Geothermal Energy) โดยใช้อุปกรณ์ เช่น กังหันไอน้ำ แปลงพลังงานความร้อนในนํ้าร้อน หรือไอนํ้าจากแหล่งความร้อนใต้พิภพเป็นกระแสไฟฟ้า และ (3) ระบบ Energy Storage System (ESS) นอกจากนี้ อาคารบ้านเรือนในเมืองถูกสร้างด้วยวิธี Passive Design & Construction โดยติดตั้งฉนวนกันความร้อน (insulation) และระบบ Air Tightness (ระบบปิด) ซึ่งเป็นนวัตกรรมบ้านไร้รอยต่อที่ช่วยประหยัดพลังงานและแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
(5) Platform Center ทำหน้าที่สังเกตการณ์การทำงานของระบบเทคโนโลยี 26 ระบบภายในเมืองอัจฉริยะ เช่น ระบบติดตามและบริหารจัดการคุณภาพน้ำ ระบบพลังงาน ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบ smart farm ของเมือง และระบบหุ่นยนต์ เช่น Robot Café Cleaning Robot เป็นต้น โดยศูนย์ควบคุมดังกล่าวเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และประเมินอุปสงค์ของการใช้พลังงานและเทคโนโลยีต่าง ๆ ในเมืองซึ่งช่วยสร้างประสิทธิภาพให้กับการบริหารจัดการเมือง
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เอกอัครราชทูต และข้าราชการจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้เดินทางไปเยี่ยมชมความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ Busan Eco-Delta Smart City ในระหว่างการเยือนนครปูซาน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยได้รับการต้อนรับจากนาย Kim Jin, General Director, Smart City Department บริษัท K-Water และคณะผู้บริหารจากบริษัทฯ และได้รับฟังการบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ จากนาย Kim Do-kyoon, General Manager, Smart City Facilities Management Team บริษัท K-Water
ในการเดินทางครั้งนี้ เอกอัครราชทูตและคณะได้หารือกับผู้บริหารบริษัท K-Water และบริษัท Gractor ผู้พัฒนาเทคโนโลยีโครงการ ร่วมกับ Samsung โดยในระหว่างการบรรยายและในการเยี่ยมชมหมู่บ้านอัจฉริยะ (Smart Village) ได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ร้านกาแฟอัจฉริยะ (Robot Café) ซึ่งใช้หุ่นยนต์ชงและเสิร์ฟกาแฟ หุ่นยนต์ทำความสะอาดท้องถนนภายในหมู่บ้าน (Cleaning Robot) หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot) และบ้านตัวอย่างใน Smart Village ซึ่งจัดแสดงเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ ไว้ให้ผู้คนทั่วไปเข้าไปชม เช่น (1) กระจก smart health ที่สามารถวัดค่าต่าง ๆ ในร่างกาย บันทึกสถิติ และประเมินสุขภาพของผู้ใช้ (2) เครื่องปรับอากาศที่ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (zero emissions) ซึ่งทำงานด้วยพลังงานน้ำจากระบบการหมุนเวียนน้ำ (3) ระบบติดตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือนเพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอการบริหารจัดการประหยัดไฟฟ้าให้กับผู้พำนักอาศัย (4) แผง solar cells ที่ติดตั้งไว้บนหลังคาของทุกครัวเรือนและผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณ 450
“Busan Eco-Delta Smart City” นับเป็นเมืองที่น่าสนใจและล้ำสมัยด้านการจัดการเทคโนโลยี ควบคู่กับการพัฒนาด้านความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำ ซึ่งในไทยเองก็ให้ความสำคัญด้านการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะ โครงการการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC โดยมุ่งหวังให้มีการใช้ “ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ” ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ BCG model ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน 3R และสามารถสร้างความน่าสนใจและความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนด้านความยั่งยืนได้ โดยผู้ประกอบการที่สนใจธุรกิจด้านเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะสู่เมืองยั่งยืน สามารถศึกษาโมเดลของ Busan Eco-Delta Smart City หรือพิจารณาขยับขยายความร่วมมือร่วมกับ K-Water ในอนาคตได้ โดยบริษัทดังกล่าวยินดีหารือกับบริษัทไทย และสามารถจัดให้บริษัทไทยเยี่ยมชมโครงการ Smart Village เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรโลกร่วมกัน
แหล่งข้อมูล