กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งเตือนผู้ประกอบการระวังโจรไซเบอร์ สวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่หลอกเจ้าของธุรกิจต่างชาติให้อัพเดตและดาวน์โหลดลิ้งก์แปลกปลอมผ่านไลน์ คาดส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกโรงเตือนประชาชนและธุรกิจระวังโจรไซเบอร์อีกครั้ง รอบนี้ขยายไปถึงนิติบุคคลต่างชาติก็โดนด้วยส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจในประเทศ ตั้งคณะทำงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคอยจับตาโจรไซเบอร์ พร้อมหนุนผู้เสียหายดำเนินคดีร่วมกันที่เอาชื่อเสียงกรมฯ ไปหากินแบบผิดๆ ยืนยันจะดำเนินคดีทุกรายไม่มีเว้น และส่งเรื่องให้ปอท. ช่วยกำจัดโจรให้สิ้น ย้ำวิธีระวังตนเอง 4 คาถายังต้องทำต่อไป
- เช็ค URLให้ดี
- ไม่กดลิ้งค์ที่ไม่รู้จัก
- ไม่เชื่อคำเชิญชวน
- ไม่เปิดเผยข้อมูล
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและผู้เสียหายว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมฯ ขอให้อัพเดทข้อมูลนิติบุคคลโดยใช้กลอุบายให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันไลน์ที่เป็นบัญชีปลอมเพื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ บัตรประชาชน อีเมล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น
จากนั้นมิจฉาชีพจะเข้าระบบดูดเงินจากในบัญชีธนาคารของผู้เสียหายออกไป ซึ่งกรมฯ ได้ประกาศแจ้งเตือนอยู่เป็นระยะรวมถึงวิธีการป้องกันตัวเองเพื่อให้นิติบุคคลและประชาชนระมัดระวังตัว ไม่หลงเชื่อ
และกรมฯ ไม่มีนโยบายที่จะติดต่อหรือทักหาประชาชนไปก่อน หรือให้อัพเดทข้อมูลผ่านระบบไลน์
ขณะนี้มีประชาชนผู้ประสบเหตุและผู้เสียหายได้ติดต่อมายังกรมฯ จำนวนเพิ่มขึ้นผ่านทางสายด่วน 1570 อีเมล และช่องทาง Social Media ของกรมฯ เพื่อแจ้งถึงกรณีดังกล่าว
มากไปกว่านั้นยังขยายความเดือดร้อนไปถึงนิติบุคคลต่างประเทศที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งใช้กลอุบายหลอกลวงแบบเดียวกันแต่เป็นรูปแบบภาษาอังกฤษ ซึ่งการกระทำนี้สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติได้
“กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ดำเนินการในเชิงรุก พร้อมแต่งตั้ง “คณะทำงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ขึ้น เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการหลอกลวงนี้
อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ แนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งเรื่องประกอบกับให้ส่งหลักฐานที่มีนำไปแจ้งตำรวจ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับมิจฉาชีพทุกราย ที่นำชื่อและตราสัญลักษณ์ของกรมฯ ที่เป็นหน่วยงานราชการไปหลอกประชาชน และขอแนะนำให้ผู้เสียหายควรไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้สกัดกั้นการกระทำลักษณะนี้ไม่ให้ขยายวงกว้าง รวมไปถึงกรมฯ ยังได้ส่งต่อหลักฐานให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ กรมฯ ขอย้ำเตือนว่าการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลในยุคนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง มิเช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อของโจรไซเบอร์โดยไม่รู้ตัว และการป้องกันตัวใน 4 รูปแบบ ยังคงมีความสำคัญคือ
- ก่อนเข้าเว็บไซต์ต้องเช็คตัวสะกดของ URL ให้ดี
- ไม่กดลิ้งค์/SMS/โหลดแอปพลิชันที่ไม่รู้จักหรือได้รับแชร์
- ไม่หลงเชื่อคำเชิญชวน
- ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
หากมีข้อสงสัยและศึกษาข้อมูลอื่นๆ ติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1570 เว็บไซต์ www.dbd.go.th และ FB: DBD Public Relations” เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการหลอกลวงได้อย่างรวดเร็ว
แหล่งข้อมูล