ติดต่อราชการ แค่โชว์ Digital ID บนมือถือก็ยืนยันตัวตนได้แล้ว

Share

Loading

การนำระบบ Digital ID มาใช้แทนการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนใบจริง และจะเหมารวมไปถึงการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ยิ่งทำให้ระบบนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น

คนไทยยุคใหม่ เรียกได้ว่าแทบไม่พกกระเป๋าสตางค์ เพราะสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวสามารถทำแทนได้ทุกอย่าง แต่ในการออกจากบ้านยังจำเป็นต้องพกบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน หากเกิดกรณีใดๆ ขึ้นมา

แต่วันนี้สามารถใช้ บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) แสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้โดยไม่ต้องพกบัตรตัวจริงแล้ว คราวนี้ก็เรียกได้ว่าครบสูตรในการออกจากบ้านเพียงพกโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวได้แล้ว

กฎหมายบังคับให้ต้องพกบัตรประชาชน

พระราชบัญญัติบัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 5 กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยที่อายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ และมีชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรประชาชนตามที่กำหนด

อีกทั้งในมาตรา 17 ของกฎหมายยังกำหนดไว้อีกว่า

“ผู้ถือบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ผู้ใดไม่สามารถแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับเมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท”

ดังนั้น ตามกฎหมายแล้ว ผู้ที่ถือบัตรประจำตัวประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีหน้าที่ต้องพกบัตรประชาชนติดไว้กับตัวเสมอ และแสดงบัตรประจำตัวกับเจ้าพนักงานตรวจบัตรเมื่อถูกขอตรวจ ถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ที่สามารถขอตรวจได้ตามกฎหมาย

สำหรับกรณีของเด็กอายุ 7-14 ปี สามารถทำบัตรประชาชนได้ ซึ่งเป็นการให้ทำไว้ก่อน แต่ไม่ได้บังคับให้ต้องพกติดตัวตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งโทษปรับ 200 บาท ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นในปี พ.ศ.2542 โดยมีเหตุผลการแก้ไขให้มีโทษปรับ 200 บาท เพราะความผิดเกี่ยวกับบัตรประชาชนมีผลกระทบกับความมั่นคง จึงมีการแก้โทษให้หนักขึ้น

ดังนั้น หากคุณถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจบัตรประชาชน
  • คุณสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจก่อนได้เช่นกันว่าเป็นตำรวจจริงหรือไม่
  • มียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่
  • ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ขอดูได้อย่างเดียว ไม่สามารถถ่ายรูปได้และห้ามยึดบัตรโดยเด็ดขาด

บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) คือ ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของทางภาครัฐ

การให้บริการของภาครัฐแก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ จะต้องมีขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อน ซึ่งมีความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร และก่อให้เกิดภาระความไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการด้วย

ดังนั้น Digital ID จะช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนและการใช้หลักฐาน ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ

ระบบ Digital ID ประกอบด้วย
  • การระบุตัวตน (Identification) การแสดงหลักฐานว่าตัวผู้ใช้เป็นใคร เช่น ชื่อผู้ใช้ หรือ Username
  • การพิสูจน์ตัวตน (Authentication) เป็นขั้นตอนการตรวจสอบหลักฐานเพื่อแสดงว่าบุคคลเป็นบุคคลที่เข้าใช้งานจริง เช่น รหัสผ่าน หรือ Password

ปัจจุบัน บริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี Digital ID ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้ รวมทั้งนำไปใช้ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อทำธุรกรรมอื่น ๆ ได้

ตามประกาศพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก บางส่วนของกฎหมายมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2565 แล้ว และบางส่วนก็เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต้องเตรียมการรองรับการให้บริการแก่ประชาชน

ทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งทุกจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงการมีผลบังคับของมาตรา 14 พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่ประชาชนจะสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน DOPA-Digital

ใช้งาน Digital ID ต้องทำอย่างไร

ผู้สนใจใช้ระบบ Digital ID สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” รองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนด์ดรอย (Android) ประชาชนใช้บัตรประชาชนตัวจริงเพื่อลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ในระยะต่อไป ระบบลงทะเบียนนี้จะมีการพัฒนาเป็นระบบออนไลน์

ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ก่อนเข้ารับบริการลงทะเบียน รองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนด์ดรอย (Android)
  • ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
  • ต้องอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องมือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้ถูกต้อง
  • ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล (D.DOPA)
  • ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดในแอปพลิเคชัน
  • ระบบแจ้งเตือนให้ตั้งค่ารหัสผ่าน โดยทั้ง 2 ครั้งต้องเหมือนกัน
  • เมื่อระบุครั้งที่ 2 ถูกต้อง ระบบแจ้งเตือนขอยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่ออัปโหลดข้อมูลลงในแอปพลิเคชันมือถือของตน
  • เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงสถานะการสมัครสำเร็จ

การใช้บัตรประชาชนอาจจะวุ่นวายในช่วงแรกเพราะต้องไปทำเรื่องที่หน่วยงานราชการ แต่เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยทุกอย่างจะง่ายทันที

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/834396