เป็นที่ทราบกันดีว่า น่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันนั้น ถูกใช้ประโยชน์จากกิจกรรมทางทะเลหลากหลายส่วนแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ และประเพณีทางการค้า บ้างเป็นพื้นที่รัฐชายฝั่งที่มีอำนาจการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางน้ำ บ้างก็เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐ
เมื่อมีการใช้ประโยชน์ทางทะเล ประเด็นในเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากจะปรากฏการเข้าออกของเรือ รวมถึงพาหนะรูปแบบอื่นในแต่ละรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
เมื่อพิจารณาประเด็นในด้านความมั่นคงทางทะเล จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา อัตราส่วนของการใช้งานเรือ พาหนะทางทะเลรูปแบบอื่น และวัตถุเคลื่อนที่ทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานทางด้านการทหารและความมั่นคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศเหตุเพราะสถานการณ์ความมั่นคงและภาวะสงครามที่มีอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน
บทความนี้จะพิจารณาถึงยานไร้คนขับทางน้ำ (Unmanned vehicle ) ในมิติของภัยหรือความมั่นคงทางทะเล โดยจะพิจารณาถึงความหมาย บทนิยาม ประเภท การใช้งานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
แต่อย่างไรก็ดีการใช้งานของวัตถุเคลื่อนที่ชนิดนี้ยังมีความคลุมเครือของวัตถุประสงค์การใช้งาน แม้ว่าในจุดเริ่มต้นจะมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจกรรมทางทหาร (Military Purpose)
ต่อมาถูกพัฒนาเพื่อวัตถุประสงค์ในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติก็ดี การถ่ายภาพก็ดีและเพื่อวัตถุในการขนส่งในอนาคต แม้กระนั้นการใช้งานวัตถุเคลื่อนที่ทางน้ำ ยังคงถูกรบกวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและปกป้องสเถียรภาพและความมั่นคงของรัฐ
ยานไร้คนขับเองนั้น (Unmanned Vehicles) มีปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ (Ancient Greek) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ชื่อ Archytas ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์นกพิราบ (Mechanical Pigeon) ซึ่งสามารถบินได้สูง 200 เมตร ทำให้มีผู้กล่าวว่าการประดิษฐ์ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของการสร้างอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles : UAVs) ต่อมายานไร้คนขับได้ถูกนำมาใช้ในช่วงของสงครามโลก โดยเฉพาะในช่วงของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่มีการประดิษฐ์ชิ้นส่วนเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดเป็นเครื่องมือต่าง ๆ นำมาใช้ในการทำสงคราม
ในปัจจุบัน แบ่งเป็นประเภท Unmanned surface vehicle (USVs) คือ ยานพาหนะพื้นผิวไร้คนขับ หรือที่เรียกว่าเรือผิวน้ำไร้คนขับ มีการใช้งานและปฏิบัติการโดยการวิ่งบนผิวน้ำ ซึ่งไม่มีลูกเรือควบคุมอยู่บนตัวยานหรือเรือดังกล่าว
USVs จะแล่นไปบนผิวมหาสมุทรเหมือนเรือผู้ปฏิบัติงานในทะเลหรือบนชายฝั่งสามารถควบคุม USVs ได้จากระยะไกลหรือสามารถติดตั้งโปรแกรมให้ USVs ปฏิบัติภารกิจที่วางแผนไว้ล่วงหน้าได้ หน้าที่ของยานผิวน้ำไร้คนขับด้านการทหาร เช่น การรักษาความปลอดภัยทางทะเล การรบผิวน้ำ ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การตรวจสอบสภาพแวดล้อมบริเวณน้ำตื้นสำหรับงานด้านอุทกศาสตร์ การเก็บข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ ด้านการพาณิชย์ เช่น การสำรวจหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
Unmanned underwater vehicles (UUV) หมายถึง ยานที่ปฏิบัติการใต้น้ำได้โดยปราศจากคนขับเคลื่อนบนยาน มีทั้งการควบคุมระบบระยะไกลและระบบกึ่งอัตโนมัติ หน้าที่ของยานใต้น้ำไร้คนขับด้านการทหาร เช่น การต่อต้านทุ่นระเบิด และสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ
ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การศึกษาทะเลสาบ มหาสมุทร รวมถึงพื้นมหาสมุทรและการสำรวจความลึกของน้ำ ด้านการพาณิชย์ เช่น การสำรวจใต้น้ำด้วยคลื่นเสียง การตรวจวัดความลึกของทะเล การตรวจหาชั้นตะกอนด้านการค้นหาซากวัตถุต่าง ๆ เช่น การค้นหาซากเครื่องบินตกหรือซากเรือที่ล่มอยู่ใต้ทะเล และการค้นหาซากวัตถุโบราณ
อย่างไรก็ตาม การใช้ยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) ในการใช้งานทางทะเลทำให้เกิดปัญหาบางประการ เช่น การสื่อสารที่มีเสียงดัง ความไม่แน่นอนของตำแหน่ง และโอกาสที่เครื่องยนต์จะเกิดความล้มเหลว เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า การใช้งานวัตถุทางทะเลดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุเพื่อการป้องกันราชอาณาจักรของแต่ละรัฐ แม้ว่าจะสามารถสร้างความอุ่นใจในการช่วยการลาดตระเวน หรือป้องกันการรุกล้ำน่านน้ำได้อย่างมาก หากแต่สิ่งที่เกิดผลขึ้นคู่ขนานกันไปกับความก้าวหน้า และการส่งเสริมการเทคโนโลยีชนิดนี้กล่าวคือ ผลกระทบต่อรัฐใกล้เคียงหรือพื้นที่ทางทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน
กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้กล่าวคือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเลปี ค.ศ.1982 (United Nation Convention on the Law of the Sea 1982) และ The 1988 SUA convention ในด้านความปลอดภัยในการเดินทะเล
ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ยังไม่มีการกำหนดบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งาน การรบกวนโดยวัตถุดังกล่าวและกระทำละเมิดต่อกฎหมายของแต่ละรัฐจากการใช้งานวัตถุเคลื่อนที่ทางทะเล
ประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาคือ การชั่งน้ำหนักระหว่างความจำเป็น เพื่อการใช้งานปกป้องราชอาณาจักรและปัญหาคุกคามทางการรุกล้ำดินแดนและพื้นที่ทางน้ำจากการใช้งานวัตถุดังกล่าว
ในด้านของรัฐผู้ใช้งาน จะอ้างถึงการใช้อำนาจอธิปไตยในพื้นที่ทางทะเลของตนและสิทธิในการใช้งานวัตถุดังกล่าว ในขณะที่รัฐอันถูกละเมิดสิทธิจากการใช้งานวัตถุดังกล่าว อาจอ้างถึงหลักทางกฎหมายในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว (Privacy) และความมั่นคงของราชอาณาจักร รวมถึงความโปร่งใสในการใช้งานวัตถุดังกล่าวอีกด้วย
เป็นที่น่าสังเกตและพิจารณาว่า ในปัจจุบันประเทศไทยเองก็มีการพัฒนาและใช้งานอุปกรณ์ชนิดนี้ด้วยเช่นเดียวกันเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
จึงเป็นที่น่าสนใจว่าสำหรับพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย รวมถึงบทบัญญัติทางกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ยังไม่มีบทบัญญัติที่รองรับเทคโนโลยีชนิดนี้ได้โดยตรง และเป็นที่น่าจับตามองมากในอนาคตข้างหน้าต่อไป
แหล่งข้อมูล