โครงการ Smart Grid ของทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ที่เป็นต้นแบบการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ให้พร้อมรับกับเทคโนโลยียุคใหม่ที่กำลังเติบโต และกำลังจะเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของทุกคน ต้องบอกเลยว่าแต่ละอย่างที่ กฟภ. กำลังพัฒนาอยู่นั้นน่าสนใจ และเป็นสิ่งที่จะช่วยยกระดับชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น
รู้จักกับ Smart Grid โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ
โครงการนี้ กฟภ.ได้เริ่มนำร่องโครงการกันไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ตั้งแต่การเอาสายไฟฟ้าลงใต้ดิน, การเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่เป็นแบบ Smart Meter, พัฒนา PEA CONNECT แอพพลิเคชั่นเชื่อมต่ออุปกรณ์สมาร์ทโฮมภายในบ้าน และ PEA VOLTA สถานีชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
สมาร์ทกริด ถือเป็นหนึ่งในโครงการของทาง กฟภ. ที่ขานรับต่อนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 โดยได้เริ่มกำหนดแนวทางการบริหารและพัฒนาภายใต้นโยบาย PEA 4.0 เน้นเรื่องการสร้างระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งพัฒนาระบบ ICT เพื่อสร้างเป็นระบบ Smart Grid เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่
เริ่มต้นกันที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค งามวงศ์วาน กับสิ่งแรกก็คือ ระบบบ้านอัจฉริยะ ที่กฟภ. ได้สร้างบ้านจำลองขึ้นมาเป็นห้องแล็ปเพื่อทดสอบระบบนี้โดยเฉพาะ
Smart Home คือสิ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้น และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่
เชื่อว่าหลายคนมีความคิดในหัวว่า เจ้าระบบบ้านอัจฉริยะ หรือ Smart Home คือการที่เราสามารถใช้แอพพลิเคชั่นในมือถือ สั่งให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านของเราเปิดปิดได้ หรือควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านอินเทอร์เนต จึงคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว หรือไม่ก็คิดว่ามันต้องลงทุนเปลี่ยนระบบเดิม ดูจะเหมาะสำหรับคนมีฐานะหรือพวกที่ชอบเล่นของใหม่ๆ มากกว่าSmart Home คือสิ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้น และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่
แต่ในมุมมองของ กฟภ. ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะหัวใจหลักของการที่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายเดียวกัน ไม่ได้เพียงแค่ความสะดวกสบาย แต่ประโยชน์ที่จริงแล้วคือ “เจ้าของบ้านสามารถบริหารจัดการพลังงานในที่พักอาศัยได้อย่างครบวงจร”
เมื่อทุกสิ่งอย่างในบ้าน เราสามารถจับรวมอยู่ในศูนย์กลางเดียวกัน เราจึงจัดการทั้งเรื่องการเปิดปิดใช้งานได้อย่างเหมาะสม การตั้งเวลาใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า กฟภ.จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชน พัฒนาระบบ PEA HiVE Platform ภายใต้แบรนด์ PEA Connect ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นในการเชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ IoT ทั้งหมดเข้าด้วยกัน
จุดเด่นแรกคือตัวแพลตฟอร์มนี้ สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์จากหลักหลายแบรนด์เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันได้ รวมถึงมีการเอาการวิเคราะห์แบบ AI มาใช้เรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานไฟฟ้าของสมาชิกภายในบ้าน เพื่อปรับแต่งการทำงานระบบให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์
จากการทดสอบเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนี้ นอกจากตัวแอพ PEA CONNECT ที่ใช้มอนิเตอร์ดูเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน และสั่งงานเปิดปิดได้แล้ว ยังทำงานผ่านระบบสั่งงานด้วยเสียงได้ด้วย ในการทดสอบสามารถสั่งผ่านลำโพง Amazon Alexa ได้ และทีมงานยังให้ข้อมูลว่ากำลังเตรียมพัฒนาระบบสั่งงานด้วยเสียงให้รองรับภาษาไทยได้ด้วย
ส่วนเรื่องของราคา ทาง กฟภ. ก็ออกแบบตัวระบบให้มีราคาไม่สูง อีกทั้งกรณีที่ในบ้านมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้รองรับระบบ IoT ก็ยังสามารถเอามาเชื่อมต่อเข้ากับระบบเพื่อสั่งงานผ่านอินฟราเรดได้ อย่างเช่นเครื่องปรับอากาศรุ่นทั่วไป หรือทีวี ฯลฯ และสามารถจัดหมวดหมู่แยกเป็นแต่ละห้องในบ้านได้ด้วย
Smart Meter เมื่อเรารู้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าที่ละเอียดมากขึ้น ก็ช่วยให้เราประหยัดไฟฟ้าได้มากขึ้น
มาต่อที่อีกระบบอุปกรณ์ของ กฟภ. ที่น่าสนใจ นั่นก็คือ “สมาร์ทมิเตอร์” หรือ มาตรวัดพลังงานไฟฟ้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ น่าสนใจตรงที่ศูนย์ควบคุมของการไฟฟ้าสามารถติดต่อและเข้าถึงข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของมิเตอร์นั้นได้ทันทีแบบออนไลน์ ไม่ต้องเสียเวลาส่งพนักงานขับมอเตอร์ไซค์มาจดค่าเดือนละครั้งแบบที่ผ่านๆ มา
ไม่ใช่แค่นั้น เพราะเจ้าของบ้านที่ใช้ไฟก็สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ด้วย ผ่านระบบของ PEA Smart Plus ที่จะบอกได้ว่าในแต่ละวันพฤติกรรมใช้ไฟฟ้าของเราเป็นอย่างไร? อย่างเช่น เช็คได้ว่าเราใช้ไฟฟ้าช่วงเวลาไหนมากที่สุด และคำนวนค่าไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นได้แบบ Realtime
นอกจากนี้ ระบบของ Smart Meter ยังช่วยให้ทาง กฟภ. สามารถควบคุมแลตรวจสอบปัญหาของอุปกรณ์ได้ออนไลน์ตลอดเวลา หากมีปัญหาไฟดับ กระแสไฟฟ้าขัดข้องที่จุดใด ศูนย์ก็จะได้รับทราบและทำการแก้ไขได้ในทันที
นับว่าเป็นระบบที่มีประโยชน์มากๆ ทั้งด้านการทำงานของ กฟภ. ที่สามารถรู้สถานะของระบบไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ส่วนผู้ใช้ตามบ้าน ก็สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในบ้านตัวเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อช่วยให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ระบบ Smart Meter ตอนนี้ทาง กฟภ. ตั้งเป้าจะเปลี่ยนให้ทุกบ้านในเมืองพัทยา จำนวนประมาณ 150,000 ครัวเรือน เพื่อเป็นการนำร่องสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะด้านระบบไฟฟ้า
แหล่งข้อมูล