ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี บางปีสถานการณ์รุนแรงส่งผลกระทบต่อสุขภาพถึงขั้นต้องออกมาตรการเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหา ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขต่าง ๆ ได้ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพและเตือนประชาชนหลายเรื่องให้ระวังหรือหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่ที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน หรือการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็กมาก เช่น หน้ากาก N95 การใส่ แว่นกันลมป้องกันดวงตาไม่ให้สัมผัสถูกฝุ่น และการจัดบ้านปลอดฝุ่น
สาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มาจากสองปัจจัย คือ ปัจจัยที่ควบคุมได้ และไม่ได้ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ คือ ฝุ่นที่เกิดขึ้นในฤดูหนาวเพราะเป็นช่วงที่สภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ ทำให้การไหลเวียนหรือถ่ายเทของอากาศไม่ดี ส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 ไม่กระจายตัวและเกิดการสะสมเกิน ค่ามาตรฐาน ส่วนปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้คือ ฝุ่นที่เกิดจากวิถีชีวิต การทำกิจกรรมหรือพฤติกรรม ของเราในแต่ละวันที่ทำให้เกิดแหล่งกำเนิดฝุ่น
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษระบุว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5ในภาคเหนือ ๙ จังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑลมักพบเกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน ส่วนภาคใต้ตอนล่างจะได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนและไฟไหม้ป่าพรุในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงกันยายน ขณะที่บางจังหวัดมีการเผาในที่โล่ง เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากการจราจร โดยเฉพาะจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม โดยที่ประเทศไทยได้กำหนด ค่ามาตรฐานโดยเฉลี่ยภายใน ๒๔ ชั่วโมงต้องไม่เกิน ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับปีนี้ คาดว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๔ จะยาวนานไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะสภาพอากาศฤดูหนาวของประเทศไทย
ฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า ๒.๕ ไมครอน ซึ่งถือว่า เล็กมาก สามารถหลุดรอดการกรองของขนจมูกเข้าทางเดินหายใจไปถุงลมฝอยและแทรกซึม ผ่านไปยังหลอดเลือดฝอยและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ องค์การอนามัยโลกประกาศว่า การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยประมาณ ๓.๗๘ ล้านคนต่อปี และผู้เสียชีวิตส่วนมาก
อยู่ในฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่น
PM 2.5 ยังขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่สัมผัส ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาแล้ว สิ่งที่น่าวิตกอย่างมาก คือ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ทางเดินหายใจอักเสบ การทำงานของปอดลดลง ภูมิแพ้และหอบ หืดกำเริบไปจนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจขาดเลือด อัมพาตจากหลอดเลือดสมองและโอกาสการเป็นมะเร็งปอด หากมีการสูดดมสะสมฝุ่น PM 2.5 ที่ปนเปื้อนสารปรอท แคดเมียม โลหะหนักหรือสารก่อมะเร็งอื่นมาก ๆ ในระยะยาว
เมื่อสถานการณ์ฝุ่นมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี รัฐบาลจึงประกาศให้การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ และมีการจัดเตรียมแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี ๒๕๖๕ กรมควบคุมมลพิษได้ใช้แนวคิด “๑ สื่อสาร ๕ ป้องกัน ๓ เผชิญเหตุ” เป็นหลักการในการทำงาน โดยเน้นเพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย การแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้าให้แม่นยำยิ่งขึ้น การเพิ่มอำนาจส่วนท้องถิ่นในการจัดการปัญหาฝุ่นละออง การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนป้องกันและควบคุมไฟป่า ตลอดจนเพิ่มการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือกและเพิ่มความเข้มงวดมลพิษจากแหล่งกำเนิด นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลแบบ Real Time ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น AIR4Thai รวมทั้ง Facebook ของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) และ Facebook ของกรมควบคุมมลพิษด้วย
ขณะเดียวกัน ก็มีการขอความร่วมมือเพื่อลดการระบายหรือลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นจากนิคมอุตสาหกรรมหรือโรงงาน เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งจากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรมในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม ส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น รถไฟฟ้า (EV) ทั้งประเภทไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ สนับสนุนการพัฒนาระบบการบริหารการเผาในที่โล่งเพื่อควบคุมฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ส่วนตามสถานที่ก่อสร้างต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม กำลังสำคัญของการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 คือ ประชาชนคนในสังคม ที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและให้ความร่วมมือเลิกพฤติกรรมที่ก่อฝุ่นอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะในช่วงที่เกิดปัญหา เช่น ตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพที่ดีเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้รถปล่อยควันดำ การดับเครื่องยนต์ เมื่อจอดรถและหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้นหรือลดการจุดธูป การช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ โดยปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการเผาป่าเพื่อหาของป่าต่าง ๆ เช่น เห็ด ผักหวาน
หลีกเลี่ยงการเผาพื้นที่ทางการเกษตร หลังการเก็บเกี่ยว หรือเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร รวมทั้งการเผา ไร่อ้อยเพื่อตัดอ้อย ซึ่งแทนการเผา เกษตรกรสามารถนำเศษพืชต่าง ๆ ที่เหลือในแปลงเกษตร เช่น ฟางข้าว มาเพาะเห็ดฟาง วัสดุเหลือจากการเพาะเห็ดก็สามารถนำกลับไปเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ ในหลายพื้นที่ ฟางข้าว หรือใบอ้อยสามารถนำมาอัดก้อน เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวลแทนการเผาทิ้ง ความร่วมมือร่วมใจในเรื่องใกล้ๆ ตัวเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการแก้ปัญหา
PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรมที่เราสามารถทำได้เพื่อรักษาสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอย่างยั่งยืน
อ้างอิงจาก
https://www.pcd.go.th/pcd_news/15097/ สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔
https://www.thaipediatrics.org/Media/media-20210203062550.pdf สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔