เอไอเข้ามามีบทบาทต่อภาคธุรกิจไม่เจาะจงเฉพาะธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต โลจิสติกส์ อีคอมเมิร์ซ การแพทย์ การธนาคาร การศึกษา และอื่นๆ
ด้วยแนวโน้มที่ส่งผลต่อธุรกิจทั่วโลก จึงทำให้ที่ผ่านมาเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง หลายองค์กรพยายามเฟ้นหาบุคคลในตำแหน่งสำคัญที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับเอไอเพื่อปรับปรุงการทำงานในองค์กรให้ดีขึ้น ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดที่มีการแข่งขันสูง เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความรู้ทักษะตามที่ต้องการ และทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายอื่นๆ ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในบทความนี้จะพูดถึงอาชีพใหม่ในยุคของเอไอ รวมทั้งทักษะเบื้องต้นที่ควรมี เริ่มจาก
1 นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AI Research Scientist) มีหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เกี่ยวกับเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาเอไอที่มีอยู่ให้ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจต่างๆ รวมทั้งพัฒนาเอไอที่มีประสิทธิภาพกับสถานการณ์และปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งต้องมีความรู้ทักษะด้านแมชชีนเลิร์นนิง คณิตศาสตร์ การเขียนโปรแกรม และสถิติ
2 นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) มีหน้าที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุป และสร้างแบบจำลอง เช่น โมเดลแมชีนเลิร์นนิงที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นได้อัตโนมัติ และหาข้อสรุป ข้อมูลเชิงลึก การคาดการณ์อนาคตออกมาเพื่อประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ หรือตรวจจับหารูปแบบที่ผิดปกติในข้อมูล
โดยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจะต้องทำงานร่วมกับวิศวกรแมชชีนเลิร์นนิงที่จะนำโมเดลไปพัฒนาต่อเป็นซอฟต์แวร์ที่พร้อมใช้งาน ดังนั้นทักษะที่ต้องมีคือ ความรู้ทางด้านสถิติ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมทั้งความเข้าใจด้านธุรกิจเพื่อหาคำตอบข้อมูลเชิงลึกได้ดียิ่งขึ้น
3 วิศวกรด้านแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning Engineer) มีหน้าที่หลักในการสร้างซอฟต์แวร์ หรือ API ที่ประกอบด้วยโมเดลแมชชีนเลิร์นนิงที่ทางนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลได้ออกแบบขึ้นมา มาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งานได้จริง สามารถเรียนรู้และประมวลผลได้เองตามที่ได้รับมอบหมาย
เป็นอาชีพที่เหมาะกับคนที่มีพื้นฐานด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) และวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ซึ่งต้องผสมผสานทักษะด้านการเขียนโปรแกรมกับการทำงานของเอไอและโมเดลเข้าด้วยกัน
4 ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางไซเบอร์ (Cyber Law Expert) ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจต่างๆ ทำให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ก็มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นตำแหน่งใหม่ที่น่าจับตามองและเป็นที่ต้องการคงหนีไม่พ้นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางไซเบอร์ ที่สามารถทำงานร่วมกับทีมเอไอในการพัฒนาโมเดลที่จะเข้ามารักษาความปลอดภัยให้กับองค์กร รวมทั้งเป็นโมเดลที่สามารถตรวจจับพฤติกรรมอันตรายเพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ โดยจะต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งความรู้ด้านกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการมีซอฟท์สกิลด้านการสื่อสาร ต่อรอง และการคิดวิเคราะห์ อีกทั้งยังต้องมีความรู้เชิงลึกด้านเทคโนโลยีและก้าวทันความปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบ
จากตัวอย่างอาชีพใหม่ในยุคที่เอไอมาแรงที่ได้มีการเล่าถึงขอบเขตการทำงานคร่าว ๆ รวมทั้งทักษะความรู้พื้นฐานที่ควรมีไปแล้วนั้น อีกสิ่งที่มีความสำคัญเสมอคือ การไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพราะในโลกเทคโนโลยี เราจะได้เห็นอะไรอัพเดทตลอดเวลา
ดังนั้น การไม่หยุดที่จะเรียนรู้คือสิ่งที่สำคัญมาก รวมทั้งการหมั่นฝึกซอฟท์สกิลด้านต่างๆ เช่น การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และการเจรจาต่อรอง เพื่อที่จะทำงานร่วมกับบุคคลทั้งภายในและนอกองค์กรได้อย่างไม่ติดขัด
ในส่วนของเจ้าของธุรกิจก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงและบทบาทงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่เริ่มหันมาใช้ประโยชน์จากเอไอและดาต้า เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด
แหล่งข้อมูล