Eartest by Eartone แอปตรวจการได้ยินชี้สมองเสื่อมฝีมือคนไทย

Share

Loading

ภาวะสมองเสื่อม ถือเป็นโรคยอดฮิตในหมู่ผู้สูงอายุ ในประเทศไทยเป็นโรคที่สามารถพบได้ทั่วไปและยิ่งทวีจำนวนมากขึ้นจากสังคมสูงวัย แต่ล่าสุดเราจะมีโอกาสรู้ความเสี่ยงแต่เนิ่นๆ เมื่อมีการคิดค้นแอปตรวจความเสี่ยงสมองเสื่อมผ่านการได้ยินฝีมือคนไทย

ภาวะสมองเสื่อม คือเรื่องที่เราสามารถพบได้ทั่วไปในสังคมโลกปัจจุบัน ตามสถิติที่เก็บรวบรวมจากทั่วโลกพบว่า ผู้สูงอายุในช่วง 60 – 70 ปีความเสี่ยงเกิดอาการสมองเสื่อมอยู่ที่ 1% และเมื่ออายุ 85 ปีขึ้นไปความเสี่ยงจะเพิ่มไปถึง 6 – 8% อีกทั้งยังเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด หากเกิดอาการก็ทำได้เพียงประคับประคองไม่ให้เลวร้ายลงเท่านั้น

เมื่อคำนึงถึงจุดนี้ภาวะสมองเสื่อมจึงนับว่าน่ากลัวและอาจส่งผลกระทบแก่สังคมไทยเป็นวงกว้าง ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการณรงค์ให้เกิดการรักษาสุขภาพเพื่อลดโอกาสเสี่ยง กระนั้นบางครั้งเราไม่อาจทราบว่าอาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใด เป็นเหตุให้มีการคิดค้นแอปพลิเคชันตรวจการได้ยินเพื่อวิเคราะห์อาการสมองเสื่อมขึ้นมา

มาถึงจุดนี้หลายท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดการได้ยินจึงถูกใช้ตรวจหาภาวะสมองเสื่อม เราจึงขออธิบายกันเสียหน่อย

เหตุใดการได้ยินจึงสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม

อันที่จริงสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อมถูกพบว่ามีสาเหตุจากพันธุกรรมมากถึง 65% ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ส่วน 35% ที่เหลือเป็นปัจจัยภายนอกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย โรคประจำตัวหลายชนิดสามารถส่งผลให้เกิดอาการนี่ได้แทบทั้งสิ้น เช่น โรคอ้วน, ความดันโลหิตสูง, ซึมเศร้า, เบาหวาน ไปจนการสูบบุหรี่ ล้วนทำให้เกิดผลกระทบได้ทั้งสิ้น แต่ล่าสุดมีการค้นพบว่าการสูญเสียการได้ยินก็มีส่วนสัมพันธ์ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ข้อมูลส่วนนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยของหลายประเทศ ทั้งในไต้หวันที่รวบรวมข้อมูลตัวอย่างของผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 16,270 คน พบว่าผู้ที่สูญเสียการได้ยินมีโอกาสเกิดอาการสมองเสื่อมมากกว่า สอดคล้องกับผลการวิจัยในเกาหลีใต้ที่พบว่า ภาวะหูตึงและหูหนวกสัมพันธ์โดยตรงต่อการเกิดอาการสมองเสื่อมในกลุ่มวัยกลางคน

ปัจจุบันเรายังไม่สามารถทำความเข้าใจหรือค้นหาคำตอบได้ชัดเจนว่า เหตุใดเมื่อเกิดภาวะบกพร่องทางการได้ยินทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ง่ายขึ้น แต่นักวิจัยคาดว่าเมื่อสูญเสียการได้ยินอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้จาก 2 สาเหตุ

– ความรู้สึกโดดเดี่ยวของผู้สูญเสียการได้ยิน เนื่องจากสูญเสียช่องทางการสื่อสารและการรับสื่อเกือบทุกชนิดที่เคยมี ส่งผลต่อสภาพจิตใจนำไปสู่การเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวที่สัมพันธ์ต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม

– การทำงานของสมองลดลงภายหลังสูญเสียการได้ยิน เมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานจะทำให้เซลล์สมองเกิดอาการฝ่อ สอดคล้องกับสาเหตุสำคัญในการเกิดภาวะสมองเสื่อม

แม้เรายังไม่เข้าใจสาเหตุแต่เมื่อรู้ความสอดคล้องก็ช่วยให้เราหาทางป้องกันได้ง่ายขึ้น จนมีการคิดค้นแอปพลิเคชันในที่สุด

Eartest by Eartone แอปพลิเคชั่นตรวจภาวะสมองเสื่อมฝีมือคนไทย

ผลงานนี้ได้รับการเปิดตัวในงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 14 ในการเปิดตัวแอปพลิเคชัน EarTest by Eartone จากความร่วมมือระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Royal Academy of Engineering และ University College London เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจการได้ยินให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ตัวแอปพลิเคชันมีความสามารถในการตรวจสอบความเป็นไปได้ในการเกิดภาวะสมองเสื่อมแก่ผู้ใช้งานแก่ผู้ใช้งาน เริ่มจากทำการติดตั้งแอปพลิเคชันลงบนอุปกรณ์ แท็บเล็ต หรือ สมาร์ทโฟน ที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน จากนั้นนำมาเชื่อมต่อเข้ากับหูฟัง ก็จะช่วยตรวจสอบความสามารถในการได้ยินและจับใจความ เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวสมองเสื่อม

ตัวระบบจะทำการจำลองสถานการณ์รับรู้เสียงจากทิศทางต่างๆ เพื่อตรวจสอบความสามารถในการได้ยินของผู้ใช้งาน โดยใช้เทคนิค Virtual Reality(VR) ในการสร้างแบบจำลองห้องไร้เสียง เพื่อให้เกิดการสะท้อนเสมือนของเสียงสมจริงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จากนั้นจึงเริ่มทดสอบการได้ยินเพื่อนำมาร่วมประเมินความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า

การทดสอบรูปแบบนี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถตรวจสอบความบกพร่องทางการได้ยินง่ายขึ้น ช่วยให้การตรวจสอบโอกาสเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเป็นไปโดยสะดวก สามารถสร้างระบบประเมินให้สามารถกระจายการเข้าถึงสู่ภาคประชาชนได้ง่ายขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายไม่แพง เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมแต่เนิ่นๆ นำไปสู่การหาทางป้องกัน

นอกจากนำไปใช้งานในแวดวงการแพทย์แล้ว ประชาชนทั่วไปยังสามารถโหลดไปใช้งานได้เอง เพื่อตรวจสอบประสาทสัมผัสทางการได้ยินของตัวเองในขั้นต้น หากมีอาการหรือความบกพร่องทางการได้ยิน สามารถขอตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วประเทศ ทำการรักษาและขอรับสิทธิ์ในการเบิกเครื่องช่วยฟังได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/post-next/innovation/690953