เป้าหมายของไทย ในการจะใช้เศษพลาสติกภายในประเทศมารีไซเคิลให้ได้ 100% ภายในปี 2570 ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยที่ผ่านมา การรณรงค์งดให้บริการ ‘ถุงพลาสติก’ หูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 – ธ.ค. 65 ลดได้กว่า 14,349.6 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน
รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และประเทศไทยได้มีการกำหนด Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561- 2573 มี 2 เป้าหมาย คือ
1. การลดและเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2. การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายและติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความยั่งยืนในการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ โดยตั้งเป้าจะใช้เศษพลาสติกภายในประเทศมารีไซเคิลให้ได้ 100% ภายในพ.ศ. 2570 ตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2570
ขณะนี้ ภาคเอกชนในประเทศไทยได้ส่วนร่วมในการจัดการกับขยะพลาสติก โดยการนำเทคโนโลยี up-cycling มาช่วยในการจัดการด้วย เช่น การเพิ่มมูลค่าเศษพลาสติกให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ เส้นใยสำหรับการทอผ้า เป็นต้น รวมถึงในภาคประชาชน มีการตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยทางอาหารจากไมโครพลาสติกที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ตลอดจนได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ต้นทางด้วย
ประเทศไทยยังได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปช่วยกัน ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ภายใต้แคมเปญ ‘everyday say no to plastic bags’ ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณีที่ลูกพะยูน ‘มาเรียม’ ตายลง และพบว่ามีเศษขยะพลาสติกอยู่ในช่องท้อง ซึ่งได้ผลตอบรับจากภาคประชาชนเป็นอย่างดี
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้รณรงค์การลด เลิกใช้พลาสติก และส่งเสริมให้เกิดการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ผ่านกิจกรรมรณรงค์ ‘ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก’ ภายใต้โครงการ ‘ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม’ สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และโฟมบรรจุอาหาร ในพื้นที่ตลาดสดเทศบาลและเอกชน รวมถึงพื้นที่ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ทั่วประเทศ ได้กว่า 3,414 ล้านใบ หรือประมาณ 9,824 ตัน โดยเริ่มกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2561-31 ธ.ค. 2562
ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับปัญหาขยะพลาสติกมากยิ่งขึ้น และยังสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนในการช่วยกันลด และเลิกใช้ถุงพลาสติกเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในประเทศ และยกระดับการดำเนินงาน โดยร่วมกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 90 บริษัท ทั่วประเทศ งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว ‘Everyday Say No To Plastic Bags’ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 – ธ.ค. 2565 ซึ่งประชาชนกว่า 90% เห็นด้วยกับการรณรงค์ทำให้ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียว รวมทั้งสิ้น 14,349.6 ล้านใบ หรือ 81,531 ตัน
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินกิจกรรมการรณรงค์การลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำตลาดสดต้นแบบ มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐ โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) ทำให้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกในภาพรวม ลดลง 43% หรือ 148,699 ตัน (ข้อมูลจากการประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ จนถึงปี 2564 ร่วมกับสถาบันพลาสติก โดยใช้ฐานข้อมูล Material Flow of Plastics)
แหล่งข้อมูล