การปรับตัวของภาคการผลิตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน “Smart Factory” นับเป็นตัวเลือกของทางรอดที่กำลังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่น
คุวาตะ ฮาจิเมะ ประธานสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย หรือ JTECS ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยถึงผลการสำรวจ “ประเด็นปัญหาต่อการมุ่งสู่ ‘Smart Factory’ ” ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย พบว่า 2 ใน 3 ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถามทั้งไทย และญี่ปุ่นมีปัญหาในกระบวนการผลิต ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับทั้งบริษัทไทย และญี่ปุ่นคือ “ความแตกต่างระหว่างแผนกับยอดผลิตจริง” ในจำนวนนี้ราว 70% เป็นบริษัทขนาดใหญ่ของไทย
สำหรับปัญหาอื่นๆ ของกระบวนการผลิต สำหรับบริษัทไทยคือ การควบคุมผลคุณภาพ (แบ่งตามผลิตภัณฑ์/กระบวนการ) การสร้างมาตรฐานการผลิต ขณะที่บริษัทญี่ปุ่น ปัญหาที่พบคือ มาตรการป้องกันของเสียไม่เพียงพอซึ่งพบว่าแต่ละหัวข้อมีผู้ตอบเกินกึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า บริษัทไทยมีความกระตือรือร้นมากกว่าบริษัทญี่ปุ่นในการนำอุปกรณ์ IoT และระบบที่เกี่ยวเนื่องมาใช้ อย่างไรก็ตาม ราว 10% พบว่า เคยนำมาใช้แต่เลิกใช้ไปแล้ว ส่วนที่ตอบว่า ไม่มีประสบการณ์ในการนำมาใช้คิดเป็นครึ่งหนึ่งของบริษัทไทย และมากกว่า 60% ของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัท SME มีแนวโน้มว่าไม่เคยนำ IoT มาใช้
ผลสำรวจยังเล่าถึง ปัญหาของบริษัทไทยในการนำอุปกรณ์ IoT และระบบที่เกี่ยวเนื่องมาใช้คือ ขาดแคลนบุคลากรในบริษัทตามด้วย การเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่เดิม,ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา/ดูแล เป็นลำดับถัดมา
“บริษัทขนาดใหญ่ทั้งไทยและญี่ปุ่นมีความกังวลในปัญหาที่ต่างกันออกไปหากจะนำระบบ Smart Factory มาใช้ โดย บริษัทไทยกังวลเรื่องการเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่เดิมด้านบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจะรู้สึกกังวลที่สุดเรื่องไม่ชัดเจนเรื่องความคุ้มทุน”
ทั้งนี้ หากถามถึงความสนใจที่จะเปลี่ยนระบบ และกระบวนการผลิตเพื่อให้ Smart มากขึ้น ก็พบว่า ส่วนใหญ่คือ 90%ตอบว่าสนใจ และอยากได้ที่ปรึกษามาช่วยให้คำแนะนำ เพราะมองว่าระบบอัตโนมัติจะช่วยให้ประหยัดแรงงานได้
“เมื่อถามว่าจะให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม บริษัทต่างก็บอกว่าไม่สนใจแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า แต่ต้องการให้การปรึกษาในแต่ละหน้างานมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี”
หากจำแนกรูปแบบการให้คำปรึกษาก็พบว่าความต้องการ การฝึกอบรมภายในบริษัทเพื่อมุ่งสู่ Smart Factory สำหรับบริษัทไทยต้องการ “แบบบริการถึงที่” “ออนไลน์” และ “การเปิดคอร์สอบรม โดยสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI)” ส่วนบริษัทญี่ปุ่นต้องการ การอบรมแบบ “ออนไลน์” ตามด้วย “การเปิดคอร์สอบรม” ที่ TNI การเปิดคอร์สอบรม
ทั้งนี้ เป็นที่น่าประหลาดใจ ที่พบว่า บริษัทไทย และญี่ปุ่นน้อยกว่า 40% ที่ต้องการได้รับเงินช่วยเหลือบางส่วนหรือค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ จากรัฐบาล โดยบริษัทญี่ปุ่นมองเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า
สำหรับ “โครงการสนับสนุนการจัดตั้ง Smart Monodzukuri Support Team ในประเทศไทย” ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือ G2G ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ญี่ปุ่น โดยสองฝ่ายมีกรอบความร่วมมือ “Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่การดำเนินงานพัฒนาทักษะบุคลากรภาคอุตสาหกรรม
ในส่วนผลการสำรวจประเด็นปัญหาต่อการมุ่งสู่ “Smart Factory“ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อแจกแจงสถานการณ์ปัจจุบัน และประเด็นปัญหาต่อการมุ่งสู่ Smart Factory ของบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทย และสำรวจความต้องการต่อ “โครงการ Smart Monodzukuri Support Team” ที่สนับสนุนการมุ่งสู่ Smart Factory ที่ “เหมาะสมกับขนาดและสภาพ” ของบริษัท โดยดำเนินการสำรวจ เมื่อ13 ธ.ค. 2565 – 11 ม.ค. 2566 รูปแบบส่งแบบสอบถามให้ตอบทางเว็บให้แก่บริษัทผู้ผลิตที่ดำเนินธุรกิจในไทย มีจำนวนบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม 119 บริษัท ในจำนวนนั้น 5 บริษัทไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต จึงถือเป็นโมฆะ และนับกลุ่มตัวเองของแบบสำรวจที่ 114 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทไทย : 42 บริษัท ,บริษัทญี่ปุ่น : 67 บริษัท, อื่น ๆ : 5 บริษัท
จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า การปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่นั้น ธุรกิจทั้งไทย และญี่ปุ่น ทั้งระดับใหญ่ และเล็กต่างตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องปรับตัว ปรับกระบวนการผลิตแล้ว แต่ก็ยังเผชิญกับปัญหา และอุปสรรคต่างๆ อีกมาก ซึ่งสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการคือ การให้คำปรึกษาแบบเฉพาะเจาะจง ตรงประเด็น และต้องการคำตอบที่เป็นสมการ การลงทุนทั่วไปคือ ความคุ้มค่ามากกว่าการให้ความช่วยเหลือ หรือมาตรการส่งเสริมเป็นครั้งๆ ไป
การกำหนดแผนช่วยเหลือต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้รับ ทำให้ผลสำรวจครั้งนี้จะช่วยให้การยกระดับภาคการผลิตของไทย และนักลงทุนญี่ปุ่นในไทยสามารถปรับตัวให้รับความท้าทายในอนาคตได้อย่างถูกต้อง คุ้มค่า และเหมาะสมด้วย
แหล่งข้อมูล