รถไฟ EV ไทยใกล้ได้ฤกษ์เปิดหวูดแล้ว รฟท.เดินหน้าทดสอบ พร้อมจัดหาอีก 50 คัน ภายในปี 66

Share

Loading

นับเป็นข่าวดีเปิดศักราชปียานยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ เมื่อรถไฟ EV ไทยได้ฤกษ์เปิดหวูด แถมดังไกลระดับภูมิภาค ชาวเวียดนามชื่นชม โดยล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เดินหน้าทดสอบ เตรียมจัดหาอีก 50 คัน ภายในปี 66 โดยจะใช้ลากขบวนโดยสารเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษอย่างได้ผล

เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า

“ภายหลังจากที่การรถไฟฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จัดทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถไฟ EV ไทย ต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม”

“ปรากฏว่านอกจากจะได้รับความสนใจ และเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนคนไทยแล้ว รถจักรคันดังกล่าวยังโด่งดังไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ที่มีการแชร์เรื่องราวของรถจักรพลังงานไฟฟ้าลงในกลุ่มเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงความชื่นชมยินดีกับประเทศไทย และพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย”

“นอกจากนี้ ยังมีชาวเวียดนามบางคนมาช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และตอบคำถามในบางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน เช่น ทำไมถึงต้องใช้รถไฟแบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นนี้นอกจากจะใช้แบตเตอรี่เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดโดยการยกระดับขนส่งโดยสารของเมือง และรองรับการใช้งานในระบบรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail Transit (LRT) ได้อีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนยังเห็นด้วยว่าความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการจะเริ่มต้นจากศูนย์ ทำเพียงคนเดียวอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมาได้แล้ว เทคโนโลยีนี้ก็จะอยู่กับประเทศไทยตลอดไป

สำหรับรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ประเทศไทยสามารถประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้เสร็จเมื่อปี 2565 เป็นแห่งแรกของโลก ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน

อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573

ปัจจุบันรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ได้ดำเนินการทดสอบเดินรถในเส้นทางต่างๆ แล้ว รวมถึงการทดสอบลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี

หลังจากนี้การรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป โดยในระยะแรกจะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 ซึ่งจากผลการทดสอบของการรถไฟฯ สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้นในระยะต่อไปจะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30-50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100-200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น เพื่อทดสอบจนเกิดความมั่นใจและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม รถจักรคันดังกล่าวมีความเร็งสูงสุดที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากลากตู้สินค้าจะใช้ความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

และหากลากตู้โดยสารจะใช้ความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยการชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้งจะมีสมรรถนะในการลากจูงระยะทาง 300 กิโลเมตร ลากตู้สินค้าน้ำหนักประมาณ 2,500 ตันได้ และตู้โดยสาร ลากได้น้ำหนักไม่เกิน 650 ตัน

ขณะนี้จุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าดำเนินการติดตั้งที่บริเวณย่านบางซื่อ และในอนาคตมีแผนจะติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่สถานีอื่นๆ เพิ่ม เพื่อชาร์จไฟตามแนวเส้นทางรถไฟต่อไป รองรับการใช้หัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่จะพ่วงไปกับขบวนรถโดยสาร

ทั้งนี้ จุดเด่นของรถจักรพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวได้ถูกออกแบบ และผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ด้วยนวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra Fast Charge ในเวลา 1 ชั่วโมงในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที ลดเวลาการรอชาร์จ และนำมาขยายผลใช้งานในระบบขนส่งได้จริง

การรถไฟฯ มั่นใจว่ารถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ เป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมการให้บริการรถไฟไทย ช่วยยกระดับการเดินทาง และการขนส่งทางราง ให้เป็นรูปแบบการคมนาคมหลักของประเทศ เป็นระบบรางไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งไทย ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม

รวมถึงประชาชนชาวไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะได้รับการให้บริการด้วยรถไฟฟ้าที่มีความสั่นสะเทือนน้อยลง มีความสะดวกสบาย และมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น เปิดโลกอนาคตของรถไฟยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการจัดหารถจักร EV อีกประมาณ 50 คัน ทยอยมาให้บริการประชาชนภายในปี 66 ตามข้อสั่งการของกระทรวงคมนาคม เพื่อยกระดับการให้บริการรถไฟแก่ประชาชน ลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งหัวรถจักร EV สามารถลดต้นทุนได้ 40-60% หากเทียบกับหัวรถจักรดีเซลในปัจจุบัน

และอีกหนึ่งภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนา รถไฟ EV ไทย จนประสบความสำเร็จนั้น คือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้จัดหาหัวรถจักร EV โดย EA ได้จับมือพันธมิตรจีน ผลิตหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าของบริษัท CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่ของจีน

อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้เคยกล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ไว้ว่า

“ถือเป็นก้าวแรกของ EA ในการจับมือกับพันธมิตรในจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตรถไฟ ขณะที่ EA มีความพร้อมในออกแบบและพัฒนานวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra-Fast Charge สอดคล้องยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Asian Logistics Hub”

“โดยหัวรถไฟ EV สามารถวิ่งได้ระยะ 150-200 กิโลเมตร ประหยัดต้นทุนพลังงานได้ 40% เมื่อเปรียบเทียบกับหัวรถดีเซล ออกแบบพัฒนานวัตกรรมระบบชาร์จ Ultra-Fast Charge ในเวลา 1 ช.ม. ในระยะแรก และ Battery Swapping Station เพื่อการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในเวลาไม่เกิน 10 นาที เพื่อลดเวลาการรอชาร์จ สามารถขยายผลยกระดับการขนส่งโดยสารเมืองรอง รองรับการใช้งานทุกระดับ และนำไปพัฒนาระบบ Light Rail Transit (LRT) สำหรับขนส่งในตัวเมืองได้ด้วย”

“EA เล็งเห็นว่า Electritication ที่เป็นเทรนด์โลกในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่ไฟฟ้า นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทยที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยที่ทัดเทียมกับนานาชาติได้อย่างก้าวกระโดด”

“สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ EA หวังว่าหัวรถจักร EV จะกลายเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะช่วยสร้างอุตสาหกรรมและมูลค่าให้กับประเทศไทยบนพื้นฐานความยั่งยืน เพราะเป็นเทคโนโลยี Zero emission ไม่ก่อให้เกิด PM2.5 เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลด carbon footprint ที่เป็นพันธกิจของประเทศไทยในเวทีโลก COP26 นับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19-20”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/02/21/ev-train-thailand-grand-opening/