Goldman Sachs ธนาคารเพื่อการลงทุนและกลุ่มหลักทรัพย์ขนาดใหญ่เผยรายงานว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจแย่งงานประจำจากมนุษย์ได้มากถึง 300 ล้านตำแหน่ง
รายงานเผยว่า AI สามารถเข้ามาแทนที่งาน 1 ใน 4 ของสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ และอาจเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตทั่วโลกในแต่ละปีได้สูงขึ้น 7% โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ฝั่ง Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ที่จะมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
ในด้านการจ้างงาน รายงานจาก Goldman Sachs เผยว่า ผลกระทบของ AI ต่อการจ้างงานของมนุษย์จะแตกต่างกันไปในแต่ละสายงาน โดย AI สามารถแทนที่งาน 46% ในสายงานธุรการและ 44% ในสายงานด้านกฎหมาย ขณะที่มีผลกระทบต่องานเพียง 4% ในสายงานก่อสร้าง และ 4% ในสายงานดูแลและซ่อมบำรุง
ขณะที่รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนา AI เพื่อสร้าง Productivity ให้กับกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ Michelle Donelan เลขาธิการด้านเทคโนโลยีเปิดเผยว่า รัฐบาลอังกฤษจะใช้ AI เพื่อทำให้การทำงานเป็นไปได้ดีขึ้น ไม่ใช่การแย่งงานจากมนุษย์
Carl Benedikt Frey ผู้อำนวยการด้านการทำงานที่ Oxford Martin School กล่าวว่า เขาแน่ใจว่าเราจะไม่มีทางรู้เลยว่า Generative AI จะแย่งงานจากมนุษย์ไปมากขนาดไหน พร้อมยกตัวอย่างว่า ChatGPT ซึ่งเป็นแชทบ็อตที่สามารถช่วยเขียนบทความเพียงแค่ป้อนหัวข้อที่ต้องการ (Prompt) ลงไป
Frey กล่าวว่า ChatGPT ช่วยให้คนที่ไม่ถนัดการเขียนสามารถเขียนบทความได้ ทำให้นักเขียนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ค่าจ้างลดลง ยกเว้นแต่ว่าความต้องการอาชีพนักเขียนจะเพิ่มมากขึ้นที่จะทำให้ค่าแรงไม่ถูกลง
Frey ยังยกตัวอย่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอีกว่า เมื่อมีเทคโนโลยีระบบนำทางอย่าง GPS และแพลตฟอร์มการเดินทางอย่าง Uber อาชีพคนขับแท็กซี่ก็ได้รับค่าแรงลดลงราว 10% กลายเป็นว่าคนขับไม่ได้น้อยลง แต่ค่าแรงของคนขับต่างหากที่ลดลง ซึ่งในอีกไม่กี่ปี ก็อาจเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันกับสายงานสร้างสรรค์
นอกจากนี้ รายงานยังอ้างอิงงานวิจัยว่า 60% ของแรงงานทั้งหมดประกอบอาชีพที่เพิ่งเกิดใหม่หลังจากปี 1940 ที่เทคโนโลยีเริ่มได้รับการพัฒนาอย่างมาก แต่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งกลับเผยให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทำให้คนตกงานมากกว่าที่จะสร้างงานใหม่ขึ้น
ดังนั้น Generative AI ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกัน คือ ทำให้คนตกงานในระยะเวลาอันสั้นนี้ อย่างไรก็ตาม Torsten Bell ซีอีโอของ Resolution Foudation มูลนิธิด้านการวิจัยของสหราชอาณาจักรเผยว่า ผลกระทบระยะยาวของปัญญาประดิษฐ์ยังไม่มีความแน่นอนแต่อย่างใดเพราะไม่รู้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปอย่างไรและบริษัทจะเลือกใช้เทคโนโลยีด้วยวิธีไหน
Bell เสนอว่า สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ คุณภาพชีวิตที่อาจจะดีขึ้นเมื่อเทคโนโลยีสร้าง Productivity มากขึ้นและบริการต่าง ๆ ก็มีต้นทุนถูกลงจากการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย รวมถึง ความเสี่ยงของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นหากเปลี่ยนแปลงต่อเทคโนโลยีไม่ทัน
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/BrandInsideAsia/photos/a.1505585296134824/6948403778519588/