รู้ไหม การเพิ่มการใช้ ‘พลังงานสะอาด’ ของมนุษย์กำลังทำให้ ‘วัตถุดิบ’ ทำแบตเตอรี่ใกล้หมดลง

Share

Loading

เป็นที่รู้กันนานแล้วว่าจริงๆ แล้วพลังงานสะอาดตามธรรมชาตินั้นมีมหาศาลมาก และหลายคนก็น่าจะเคยได้ยินว่าจริงๆ แล้วแค่พลังงานแสงอาทิตย์ที่มาถึงโลกนั้น ถ้าเราเก็บมันมาใช้ได้ทั้งหมด 1 ชั่วโมงต่อวัน เราก็จะมีพลังงานมากเกินกว่าที่มนุษย์ปัจจุบันใช้ในปีหนึ่งๆ ด้วยซ้ำ

นั่นทำให้ในช่วงแรกพัฒนาการสำคัญของพลังงานสะอาดคือการพัฒนาการดักจับแสงอาทิตย์ และแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนั่นก็ทำให้เรามี ‘แผงโซลาร์เซลล์’ ราคาถูกมากมายในสมัยนี้ หรือพูดง่ายๆ การดักจับพลังงานสะอาดไม่ใช่ปัญหาเลย

แต่ปัญหาจริงๆ คือการเก็บพลังงานสะอาดมากกว่า เพราะมันต้องใช้แบตเตอรี่ และทุกคนที่ตามเรื่องพวกนี้ก็คงรู้อีกว่ามันเป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้พลังงานสะอาดมากๆ เพราะอย่างน้อยส่วนประกอบที่ราคาแพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้หลายคนยังไม่ใช้ก็คือแบตเตอรี่ และมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีราคาลดลงไปเรื่อยๆ แบบแผงโซลาร์เซลล์

เทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ชาร์จได้แบบปัจจุบันคือเทคโนโลยีลิเธียมไอออน ซึ่งใช้กันตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งเทคโนโลยีนี้ต้องใช้แร่หายาก 2 ชนิด คือ ลิเธียมและโคบอลต์ โดยแร่ชนิดแรกกำลังการผลิต 80 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งโลกมาจากชิลี ออสเตรเลีย และจีน ส่วนอย่างหลัง กำลังการผลิต 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลกมาจากคองโก ซึ่งแค่นี้ก็คงจะเห็นแล้วว่าการที่แร่ที่เป็นกุญแจหลักของ ‘การปฏิวัติพลังงานสะอาด’ นั้นมาจากไม่กี่ประเทศจากนอกโลกตะวันตกนั้น ก็ทำให้พวกชาติตะวันตกไม่สบายใจเท่าไร และผลของการที่มีเพียงไม่กี่ชาติที่จะมีแร่พวกนี้ มันยังทำให้เกิดการตรึงราคาวัตถุดิบ ทำให้แบตเตอรี่ราคาไม่ลดลงด้วย

แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น คือตอนนี้มีการประเมินแล้วว่าถ้าแผนสู้โลกร้อนด้วยการเอารถยนต์ใช้น้ำมันออกไปจากถนน และเลิกใช้ไฟฟ้าพลังถ่านหินไปได้สวย อุปสรรคก็คือ ถึงในปี 2050 เราจะไม่เหลือรถยนต์ใช้น้ำมันบนถนนแล้ว แต่เราต้องมีพวกแร่หายากมากกว่าที่มีบนโลกนี้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ จึงจะเพียงพอต่อการสร้างแบตเตอรี่เพื่อจะรองรับโลกที่ต้องใช้พลังงานสะอาดขนาดนั้น

หรือพูดง่ายๆ เขาบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะลดโลกร้อนได้ตามเป้า เพราะเราไม่มีแร่มากพอในการจะนำมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ตามไทม์ไลน์ในการสู้โลกร้อนในปัจจุบัน

แล้วต้องทำยังไง?

แนวทางแรกที่ทำกันอยู่คือการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งก็เป็นเรื่องทั่วไปอยู่แล้วที่การรีไซเคิลเป็นทางออกในการเอาพวกแร่หายากกลับมาใช้ แต่ ‘ปัญหา’ ก็คือ การรีไซเคิลลิเธียมไม่ใช่ง่ายๆ คือมันไม่ใช่แค่แกะออกมาใช้ต่อ มันต้องมีกระบวนการทางเคมีเพื่อสกัดออกมา ซึ่งรวมๆ แล้ว ‘ต้นทุน’ การรีไซเคิลนั้นแพงกว่าการไปขุดลิเธียมมาใหม่ถึง 5 เท่า และเท่านั้นยังไม่พอ กระบวนการรีไซเคิลนั้นยังทำให้เกิดสารพิษมหาศาลด้วย

พูดง่ายๆ การรีไซเคิลนั้นไม่คุ้มและไม่ควรทำในระยะยาว แต่ทุกวันนี้ที่ทำๆ กัน เพราะถ้าไม่ทำ ลิเธียมจะหมดโลกเร็วกว่านี้อีก หรือพูดง่ายๆ มันเป็นกระบวนการเพื่อถ่วงเวลา

แล้วจริงๆ ต้องทำอะไร?

คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้วว่า ยังไงมนุษย์ก็ต้องพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบใหม่ออกมา ซึ่งแคนดิเดตเทคโนโลยีมีเป็นสิบตัว แต่ละตัวก็มีข้อดีข้อเสียต่างๆ กัน ถ้าเทียบกับลิเธียมไออน เช่นบางเทคโนโลยีใช้แร่ที่หาได้ง่ายกว่า แต่เก็บพลังงานได้ไม่ดีเท่า บางตัวก็สามารถเอาไปรีไซเคิลได้ง่ายและถูกกว่า แต่ต้นทุนการผลิตก็แพงกว่า เป็นต้น ซึ่งรวมๆ คือมันไม่มีเทคโนโลยีอะไรที่ ‘ดีกว่าทุกด้าน’ แบบไม่ต้องเถียงกัน

และนี่แหละ ‘ปัญหา’ คือตอนนี้มนุษย์ยังเลือกไม่ได้ว่าจะใช้แบตเตอรี่อะไรแทนลิเธียมไอออน มันไม่ใช่ไม่มี แต่ตัวเลือกมันเยอะมาก และการเลือกไปทางใดทางหนึ่งนั้นมันก็เลือกสุ่มๆ ไม่ได้ มันต้องเลือกแล้วมีตลาดรองรับด้วย เช่น ถ้าบริษัทเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่เทคโนโลยีประหลาดๆ ผลิตสินค้าออกมา คนก็อาจไม่อยากใช้

ซึ่งก็แน่นอน ที่ทุกวันนี้มนุษย์ใช้ลิเธียมไอออนเป็นหลัก ก็เพราะมัน ‘ถูกและดี’ ที่สุดในยุคหนึ่ง ยุคที่คนยังใช้กันไม่เยอะแล้วแร่พวกนี้มีเหลือเฟือ ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากยุคที่มนุษย์ค้นพบว่าน้ำมันคือสิ่งที่ ‘ถูกและดี’ ที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานรถยนต์แต่อย่างใด

แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา จริงๆ ก่อนคนจะใส่ใจโลกร้อนคนก็พูดมานานแล้วว่าสักวันน้ำมันจะหมดโลก และคนจะไม่ได้ใช้ไปตลอด ซึ่งทุกวันนี้ปัญหามันก็เปลี่ยนจากน้ำมันมาเป็นลิเธียมเท่านั้นเอง

กล่าวโดยสรุป มนุษยชาติกำลังอยู่ในจุดสำคัญของการปฏิวัติพลังงานสะอาด ซึ่งมันคือจุดที่มนุษย์ต้องหาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ ‘ยั่งยืน’ มากขึ้น และก็น่าสนใจว่านี่เป็นสิ่งที่คนสนใจน้อยมาก เพราะทุกคนคิดแต่จะ ‘ทำยอด’ ในการสู้โลกร้อน ด้วยการลดการใช้น้ำมันและถ่านหิน เพิ่มการใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์รัวๆ โดยไม่ได้คิดว่าเส้นทางที่เดินอยู่ตอนนี้มันไม่สามารถจะยั่งยืนไปจนถึง 30 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำ

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3601720046820188/