นักวิจัยสร้างคอมพิวเตอร์จาก ‘เห็ด’ ปูทางรักษาโรคอัลไซเมอร์

Share

Loading

นักวิจัย ม.เวสต์ออฟอิงแลนด์ ประเทศอังกฤษ สร้าง “เมนบอร์ดคอมพิวเตอร์” ด้วยเนื้อเยื่อของ “เห็ด” ที่มีกลไกคล้ายกับสมองของมนุษย์ ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต

แนวคิดการนำเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตมาเป็นส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์นั้น มักเกิดขึ้นในนิยายหรือหนังแนว Sci-Fi กระทั่งในเกมธีมโลกอนาคต ที่มีตัวละครสามารถส่วมใส่แขนกลหรือขากลได้เช่นกัน

แต่ไม่นานมานี้ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการ Unconventional Computing Laboratory (UCL) มหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ ประเทศอังกฤษ ได้สร้าง “เมนบอร์ดคอมพิวเตอร์” ที่ใช้เนื้อเยื่อของ “เห็ด” เป็นส่วนประกอบ

ซึ่งการวิจัยดังกล่าวมีประโยชน์ต่อไปอย่างมาก เพราะกลไกจากเห็ดที่เชื่อมต่อระหว่างเครื่องจักรกับสมองหรือ BCI การใช้อวัยวะเทียม และการรักษาโรคอัลไซเมอร์กับโรคพาร์กินสันได้ในอนาคต

เห็ดที่นำมาใช้ มีเรียกชื่อทางวิทยาสตร์ว่า “ไมซีเลีย (Mycelia)” หรือเส้นใยจากเห็ดรา ปัจจุบันถูกใช้อย่างแพร่หลายทั้งในวงการเสื้อผ้า อาหาร กระทั่งทางการแพทย์ โดยทีมวิจัยทดลองนำไมซีเลียมาสร้างเป็นแผงวงจรคอมฯ ด้วยการนำเห็ดมาเพาะลงไปเมนบอร์ด หนึ่งชิ้นในส่วนสำคัญของคอมฯ เพื่อศึกษากลไกการนำไฟฟ้า

จากการทดลองพบว่า ไมซีเลียมที่มีการจัดเรียงทางเรขาคณิตที่แตกต่างกันสามารถคำนวณฟังก์ชันทางตรรกะที่แตกต่างกัน และสามารถทำแผนที่วงจรตามการตอบสนองทางไฟฟ้าที่ได้รับ

ศาสตราจารย์ Andrew Adamatzky หัวหน้านักวิจัยอธิบายว่า เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสำหรับการทดลองในครั้งนี้ เพราะส่วนที่เป็นไมซีเลียสามารถส่งคลื่นไฟฟ้าได้ไม่ต่างจากเส้นประสาทของมนุษย์ จึงนำมาทดลองกับเมนบอร์ด แล้วทดลองส่งกระแสไฟฟ้าเข้าไปแบบสลับกัน หากพุ่งสูงขึ้นหรือขาดหายไปจะถูกแปลเป็น 1 และ 0 ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นกลไกที่เห็นได้ปกติจากตัวคอมฯ

แม้ว่าจะไม่สามารถเทียบความเร็วกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน แต่ทางนักวิจัยสามารถสร้างส่วนที่คล้ายกับการสร้างความทรงจำ แบบเดียวกับที่เกิดใน “สมองของมนุษย์” ด้วยการเพิ่มกระแสไฟฟ้ามากระตุ้นเชื้อราสองจุดที่อยู่ห่างกัน

ดังนั้น การทดลองนำไมซีเลียมาสร้างเมนบอร์ดคอมพิวเตอร์จะช่วยปูทางแก่วงการแพทย์ในเรื่องของ “เว็ตแวร์ (Wetware)” ได้

ทั้งนี้ เว็ตแวร์ เป็นคำที่ใช้เรียกการผสานระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ที่นำมารวมกับเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะการผสานแขนเทียมเข้ากับเส้นประสาทของผู้พิการ เพื่อให้ร่างกายสามารถสั่งการแขนเทียมได้อย่างอิสระ

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1060014