Meta เปิด 5 มาตรการเชิงรุกปกป้องการเลือกตั้ง หวังสร้างความโปร่งใสการเมืองไทย

Share

Loading

Meta คุมเข้มมาตรการปกป้องการเลือกตั้ง เสริมความโปร่งใส ในการนำเสนอข้อมูลและข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ด้วยการดำเนินการเชิงรุก 5 แนวทาง ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งทีมงานเชิงปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง พร้อมทั้งพัฒนานโยบายที่แข็งแกร่งมากขึ้น เพื่อการจัดการกับเนื้อหาและเครือข่าวที่อันตราย พร้อมทั้งต่อสู้กับข้อมูลเท็จ และเพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณา ที่เกี่ยวกับการเมือง

ในปี 2022 ที่ผ่านมา Meta ได้ลงทุนราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้กับการแทรกแซงจากต่างชาติ และขบวนการสร้างอิทธิพลภายในประเทศ รวมไปถึงการลดปริมาณข้อมูลเท็จ และสู้กับการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ์

เแนวทางการทำงานเชิงรุก 5 ด้าน ของ Meta เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไทย ได้แก่

1. จัดตั้งทีมงานปฏิบัติการด้านการเลือกตั้ง (Election Operations Team)

โดยได้มีการจัดตั้งทีมปฏิบัติงานเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งโดยเฉพาะ จากหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็น การต่อสู้ข้อมูลเท็จ ความปลอดภัย สิทธิมนุษยชน และโลกไซเบอร์ ที่จะคอยรับมือความเสี่ยงแบบเรียลไทม์

2. จัดการเนื้อหาที่เป็นอันตราย

ในส่วนนี้จะมีการลบเนื้อหาใด ๆ ที่ฝ่าฝืนมาตรฐานชุมชน ไม่ว่าจะเป็น คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง ความรุนแรงและการยุยง การกลั่นแกล้งและการคุกคาม หรือการให้ข้อมูลเท็จบางประเภททันทีที่ได้รับรายงาน โดยได้มีการจัดตั้งทีมงานเฉพาะเพื่อตรวจสอบและยับยั้งความพยายามในการเข้าถึงผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มโดยมีวัตถุประสงค์ที่ไม่โปร่งใส นอกจากนี้ บริษัทยังได้ใช้เทคโนโลยีตรวจจับเพื่อตรวจหาและหยุดความพยายามในการสร้างบัญชีปลอมที่มีกว่านับล้านบัญชี โดย Meta สามารถตรวจเจอและลบบัญชีปลอมภายในเวลาไม่กี่นาที หลังจากที่บัญชีเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นมา

ทั้งนี้ในช่วง Q4/2022 มีบัญชีปลอมกว่า 1.3 พันล้านบัญชีปลอมที่ถูกลบออกไปจากแพลตฟอร์ม และกว่า 99.3% ถูกตรวจพบด้วยระบบ AI ของทาง Meta อีกท้ังมีบุคลากรกว่า 40,000 คนที่ทำงานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์

รวมทั้งนโยบายด้านข้อมูลเท็จของบริษัทไม่อนุญาตให้มีการแทรกแซงหรือหยุดยั้งการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รวมไปถึงไม่อนุญาตให้มีการให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ หรือวิธีการเลือกตั้ง ไปจนถึงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง และการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย หรือเรียกร้องให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ

3. เพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและการดูแลเพจ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ก็ได้พัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะเพิ่มความโปร่งใสที่มากขึ้นในการโฆษณาเกี่ยวกับเลือกตั้ง การเมือง และประเด็นสังคม ในปัจจุบัน โดยได้มีการจัดทำมาตรการเพิ่มเติมในการสร้างความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณาและดูแลเพจต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น

  • ความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณา : ผู้ลงโฆษณาจะต้องผ่านกระบวนการยืนยันข้อมูลระบุตัวตนผ่านบัตรประชาชนที่ออกโดยรัฐบาล และระบุข้อความ “ได้รับสปอนเซอร์จาก” บนโฆษณา
  • คลังโฆษณา ‘Ad Library’ : ศูนย์รวมข้อมูลสาธารณะที่คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลโฆษณาที่กำลังแสดงผลอยู่ในปัจจุบัน รวมไปถึงข้อมูลโฆษณาเกี่ยวกับการเมืองย้อนหลัง 7 ปีบน Facebook ซึ่งระบุวันเวลา แพลตฟอร์มที่โพสต์ และผู้สนับสนุนโฆษณานั้น ๆ
  • บริบทของบัญชี และเพจต่าง ๆ : โดย Meta อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถดูประเทศของผู้ดูแลเพจได้ และได้เปิดตัว เกี่ยวกับบัญชีนี้ ทาง Instagram ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

โดยที่ผ่านมาจากการที่มีการลบ พบว่าสัดส่วนปริมาณการแชร์ข่าวเท็จลดลงกว่า 95%

4. การยับยั้งเครือข่ายที่แทรกแซงความโปร่งใส

โดยทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ของ Meta จะสอดส่องและรับมือกับเครือข่ายออนไลน์ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยและอาจจะมีการแทรกแซงความโปร่งใส เช่น การมีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ (Coordinated inauthentic behavior หรือ CIB) ซึ่งในช่วงการเลือกตั้ง CIB มุ่งบงการชักใยและสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของสาธารณชนเพื่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ผ่านบัญชีปลอม และร่วมกันให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับตัวตนและเจตนาของพวกเขา

ปัจจุบันมี IO กว่า 200 เครือข่าย ที่โดนลบบัญชี ลบข้อมูล ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะในการดูแลแพลตฟอร์ม

5. ร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเลือกตั้งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพลเมือง

โดยก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น Meta ได้มีการทำงานจัดทำโครงการร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ องค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆ

มาตรการความโปร่งใสในการโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ซึ่งมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2016 ระหว่างที่พัฒนาได้มีการโฟกัสไปที่ 2 topic หลัก ๆ คือ

1. Authenticity มุ่งสร้างนโยบายในการพิสูจน์ตัวตน จะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนกับทาง Facebook เพื่อให้ทราบว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้จ่ายเงินในการโฆษณานี้ ซึ่งข้อมูลจากการพิสูจน์ตัวตนเราจะนำมา Approve

2. Transparency ความโปร่งใส โดยได้มีการพัฒนาเครื่องมือ

ได้มีการเพิ่มข้อมูล Overview ใหม่บน ‘Ad Library’ เพื่อให้สามารถส่องอินไซต์การยิงแอดที่ละเอียดขึ้น ซึ่งมีการใช้กับ 190 ประเทศทั่วโลก และเปิดตัวไปเมื่อกันยายนปี 2022 ที่ผ่านมา เพื่อต้องการให้ผู้คนได้รับข้อมูลที่โปร่งใส และรับทราบว่าใครเป็นผู้ลงโฆษณาเกี่ยวกับการเลือกตั้งบน Facebook นั้น ๆ

ผู้ที่ต้องการ ‘ลงโฆษณาทางการเมือง’ จะต้อง

1. ยืนยันตัวตนและสถานที่ โดยทั่วไปจะได้รับการยืนยันภายใน 48 ชั่วโมง ส่วนที่เป็นการเลือกตั้งใช้เวลา 3 วัน

2. สร้างข้อความจำกัดความรับผิดชอบจะปรากฎบน Facebook และ Instagram

การสร้างเสริมขีดความสามารถ

ทั้งนี้ ก่อนการเลือกตั้งถึง 12 เดือน Meta ได้มีการสร้างเสริมขีดความสามารถ ในการจัดอบรมให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ หน่วยงานเฝ้าระวังการเลือกตั้ง องค์กรไม่หวังผลกำไร และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งหัวข้อจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การให้ความรู้ นโยบาย บริการ เครื่องมือ ระบบการรายงานของ Meta และแนวทางการปฏิบัติด้านความปลอดภัยและความมั่นคงบนโลกออนไลน์ รวมทั้งนโยบายด้านโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเครื่องมือเพิ่มความโปร่งใส

แคมเปญ #โซเชียลด้วยใจ

ซึ่งเป็นสื่อรณรงค์ในรูปแบบแอนิเมชันจาก Meta เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสามารถระบุข้อความบิดเบือนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงบวกและมีความรับผิดชอบในช่วงการเลือกตั้ง

รวมทั้ง Meta ได้เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้แบบออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (IFCN) ที่ให้บริการ 15 ภาษา ด้วยเช่นกัน

ส่วนการที่ Facebook เลือกชูคอนเทนต์ในฟีด จะขึ้นอยู่กับการใช้งานของ User ซึ่ง Algorithm ๅจะเลือกจากการ engagement ที่มีการกด view , แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การตอบคอมเมนต์ ซึ่งทั้งหมดนี้ Algorithm จับได้

คุณแคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อ ‘การเลือกตั้ง’ เปลี่ยนแปลกไปจากในอดีต จึงต้องมีการกลั่นกรองและตรวจสอบที่มากยิ่งขึ้น  Meta  ได้ยกระดับและต่อยอดจากประสบการณ์ทำงานระดับโลก พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงขึ้น และสนับสนุนความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งทั้งหมดนี้เราตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญของเราในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งของคนไทย และลดความเสี่ยงในการแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งบนแพลตฟอร์มเรานั่นเอง”

แหล่งข้อมูล

https://techsauce.co/news/meta-five-step-approach-to-addressing