ปี 2566 ผ่านไปยังไม่ถึงครึ่งทาง สัญญาณการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ของธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนก็เริ่มชัดเจนขึ้น
การควบรวมกิจการของบริษัทยักษ์ใหญ่ การเตรียมตัวเข้า IPO ของบริษัทโลจิสติกส์ข้ามชาติหลายราย การเร่งระดมทุนของเทคคอมพานีรายใหญ่ที่ให้บริการด้านจัดส่งแบบ on-demand รวมถึงเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่นำเอาเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านโลจิสติกส์
นักวิเคราะห์และนักลงทุนมองว่า ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์กำลังเดินสู่จุดเปลี่ยนผ่าน แรงกดดันในภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่เรื่อง ปัญหาขาดแคลนแรงงานและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จนถึงปัญหาที่เหนือการควบคุมอย่างสภาวะสงคราม การขาดแคลนพลังงานและภาวะโลกร้อน ล้วนมีผลโดยตรงกับการให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์
ล่าสุดบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ Capgemini ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรทั่วโลกกว่า 2,000 รายเกี่ยวกับเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องลงทุนภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า
ผลการสำรวจระบุว่า 43% ของผู้บริหารต้องการลงทุนเพื่อทำให้ระบบซัพพลายเชนมีความประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญต้องการทำให้เกิด Resilient Supply Chain นั่นคือทำให้ทั้งระบบของห่วงโซ่อุปทานมีความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งต่อไป โดยมองเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ขึ้นไป
บทเรียนที่ทุกองค์กรได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด 3 ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้นำองค์กรมองการบริหารจัดการซัพพลายเชนในมุมที่ต่างไป
กว่า 50% ของผู้บริหารองค์กรมองว่าระบบบริหารจัดการซัพพลายเชนมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก และกำลังเดินไปสู่จุดที่จะเกิดโมเดลใหม่ และอาจปรับตัวจากการเป็นหน่วยธุรกิจที่เป็นต้นทุน( Cost Center) ไปสู่การเป็นหน่วยธุรกิจที่สร้างผลกำไร (Profit Center)
แนวโน้มการลงทุนที่เกิดขึ้นจะเน้นในสองเรื่องหลักคือ
1) ซัพพลายเชนเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับ Data Analytics, AI, Digital Solutions เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ลดต้นทุน ทำให้ระบบโปร่งใสตรวจสอบได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน
2) กระจายความเสี่ยงการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์โดยขยายการลงทุนให้ครอบคลุมไปถึงการผลิตและการขนส่ง
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ การลงทุนในระบบซัพพลายเชนอาจหมายถึงการควบรวมกิจการและการเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนและนำเงินลงทุนมาทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่และตลาดใหม่
ในไทยเราได้เห็นการควบรวมของสองยักษ์ใหญ่ JWD โลจิสติกส์และ SCG โลจิสติกส์ ภายใต้ดีลเกือบสองหมื่นล้านบาท ที่ต่างฝ่ายต่างครอบครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่คนละเซ็กเมนท์
ในเอเชีย Alibaba กำลังจะนำเอาธุรกิจโลจิสติกส์ในเครือ CAINIAO เข้า IPO ที่ฮ่องกงด้วยมูลค่าธุรกิจกว่าสองหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วย Lalamove, Ninja Van, J&T ผู้เล่นรายใหญ่ในกลุ่มโลจิสติกส์ on-demand ที่เร่งระดมทุนและเตรียมพร้อมที่จะเข้า IPO ในปีนี้เช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับโครงสร้างการบริหารจัดการซัพพลายเชนและการลงทุนเพื่อทรานส์ฟอร์มระบบห่วงโซ่อุปทานขององค์กรใหญ่ ถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับสตาร์ทอัพทั่วโลก
ปีที่ผ่านมา VC ลงทุนในเทคสตาร์ทอัพด้านซัพพลายเชนไปกว่าห้าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้านับรวมตัวเลขกับเม็ดเงินลงทุนในฝั่งองค์กร นั่นอาจหมายถึงเม็ดเงินกว่าแสนล้านเหรียญที่รออยู่ข้างหน้า!
แหล่งข้อมูล