สาธิต มข.จับมือเครือข่าย เปิดโลกออทิสติก ใช้เอไอช่วยวินิจฉัยอาการออทิสติกในเด็กไทย

Share

Loading

ดร.สมพร หวานเสร็จ อาจารย์ที่ปรึกษา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ กล่าวในการดำเนินการจัดการประชุมวิชาการเปิดโลกออทิสติก ครั้งที่ 14 “AI for Autism : นวัตกรรม AI นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล” มีนายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิด จัดโดยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายการดูแลบุคคลออทิสติกจังหวัดขอนแก่น ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ว่า การจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นในธีมงาน “AI for Autism : นวัตกรรม AI นำออทิสติกไทย ก้าวไกล สู่โลกดิจิทัล” นับว่าสำคัญ และน่าสนใจมาก เพราะยุคปัจจุบัน AI มีความเกี่ยวข้อง ใกล้ชิดในชีวิตประจำวันของทุกคนมาก และในเกือบทุกวงการ มีการนำ AI มาใช้งานมากขึ้น รวมถึงด้านออทิสติกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษา หรือทางการแพทย์ ที่จะช่วยเหลือเด็กออทิสติกมากขึ้น เช่น มีการวิจัยโดยทีมผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ นำ AI มาช่วยวินิจฉัยอาการออทิสติกในเด็กตั้งแต่เนิ่นๆ ที่ช่วยวิเคราะห์อาการออทิสติกได้ทันท่วงที

“เทคโนโลยี AI ยังใช้กับการรักษาทางไกล หรือการเช็กอาการย้อนหลังได้ หรือการสร้างนวัตกรรมสุดอัจฉริยะ เก้าอี้กอด OTO ช่วยผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการออทิสติก สเปกตรัม ให้รู้สึกปลอดภัยจากการสัมผัสที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งประดิษฐ์นี้ ถูกออกแบบ และพัฒนาโดย Alexia Audrain ช่างไม้ครุภัณฑ์ชาวฝรั่งเศส และมีการพัฒนางานด้าน AI อีกมากมาย หวังว่าจะเปิดโลกทัศน์อีกมุมมองหนึ่ง และได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึมที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาและขยายผล ทั้งด้านงานวิจัย บทความ สื่อ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษต่อไป” ดร.สมพร กล่าว

น.ส.ปริศนา อานจำปา รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มข.ฝ่ายการศึกษาพิเศษ กล่าวว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร สหวิชาชีพ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ แบบองค์รวมในทุกมิติ เป็นเวทีในการนำเสนอนวัตกรรม ผลการวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็น และแสดงความความก้าวหน้าของงานวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ในการพัฒนานวัตกรรม ผลงานวิจัย และการนำไปใช้ประโยชน์ ต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานกิจกรรม ของภาคีเครือข่ายการดูแลบุคคลออทิสติก และยกย่องเชิดชูเกียรติ แก่บุคคล หน่วยงานที่มีผลงานดีเด่น และทำคุณประโยชน์ด้านการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึม

“การประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมอภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความรู้ แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นแนวทาง ในการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะออทิซึม และบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ใน จ.ขอนแก่น” น.ส.ปริศนา กล่าว

แหล่งข้อมูล

https://www.matichon.co.th/education/news_3983789