การปฏิรูปการเกษตรในสังคมคาร์บอนต่ำด้วย GIS

Share

Loading

ปัจจุบัน เป็นที่รู้กันดีว่าการผลิตในภาคเกษตรและอาหาร มีส่วนอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น การตัดไม้ทำลายป่าขยายพื้นที่เกษตร ความเสื่อมโทรมของดินจากการทำเกษตรอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การสิ้นเปลืองทรัพยากร และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยสังเคราะห์ซึ่งปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ก็ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

การนำแนวทางการเกษตรแบบยั่งยืนมาใช้ เช่น วนเกษตร (การเกษตรที่เน้นการจัดการนิเวศเลียนแบบระบบนิเวศธรรมชาติของป่าไม้) การเกษตรเชิงอนุรักษ์ และการเกษตรแบบแม่นยำ มีส่วนช่วยในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แนวทางปฏิบัติเหล่านี้ช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินและพืชพรรณ ลดการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีผลต่อการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากร ที่สามารถติดตามข้อมูลด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อสนับสนุนการเกษตรแบบแม่นยำ จะบูรณาการกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อช่วยให้ติดตาม ทั้งเลือกใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำการเกษตรทั้งในขนาดพื้นที่แปลงเล็ก หรือแปลงใหญ่ และวางแผนการผลิตเพื่อลดของเสีย และนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน

การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรในภาคเกษตรกรรมในเรื่องหลักๆ ดังนี้

การติดตามสภาพพื้นที่เกษตรกรรมแม่นยำ : เป็นการนำข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมรายละเอียดสูง หรือข้อมูลภาพถ่ายจากโดรน มาวิเคราะห์ขนาดของพื้นที่ ความสูงต่ำ และจำนวนต้นไม้ผลหรือไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูง

เกษตรกรสามารถเรียนรู้วิธีการรวบรวม วิเคราะห์ และแสดงภาพตัวแปรทางการเกษตรต่างๆ ในรูปแบบแผนที่ (Map) เช่น แผนที่แสดงคุณสมบัติของดิน ลักษณะภูมิประเทศ และการติดตามสุขภาพของพืชจากภาพถ่ายจากโดรน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม เช่น น้ำในแหล่งน้ำจากภาพถ่ายจากโดรน ระดับน้ำและปริมาณน้ำที่คำนวณให้เพียงพอสำหรับการปลูกในหน้าแล้ง

การวิเคราะห์การเจริญเติบโตของพืชพรรณ เพื่อวางแผนการให้ปุ๋ย และยาชีวภัณฑ์ป้องกันและกำจัดแมลงในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม ลดของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขณะที่เพิ่มผลผลิตพืชผล

เกษตรกรรมอัจฉริยะด้านสภาพอากาศ : การบูรณาการชุดอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) พร้อมเซนเซอร์วัดสภาพอากาศ เพื่อบันทึกข้อมูลสภาพอากาศเชิงพื้นที่ในหลากหลายสถานีบันทึกไว้บนคลาวด์ (Cloud) แล้วนำมาประมวลทางสถิติ และเข้าสู่แบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน น้ำท่า และติดตามอุณหภูมิ ความชื้น ลม และฝน เพื่อวางแผนและตัดสินใจ โดยอาศัยแผนที่ที่ได้จากการวิเคราะห์และแสดงภาพผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพืชผลทางการเกษตร

GIS ยังช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการปรับตัวตามสภาพการณ์ เช่น การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม การปรับวันที่เพาะปลูก และการใช้เทคนิคการอนุรักษ์น้ำ ฯลฯ

การวางแผนและการจัดการการใช้ที่ดิน : การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่อการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการเกษตร GIS ช่วยให้สามารถวิเคราะห์รูปแบบการใช้ที่ดินโดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม หรือภาพถ่ายจากโดรน แล้วนำข้อมูลจากภาพที่ได้รับมาคำนวณขนาดพื้นที่อนุรักษ์ที่มีมูลค่าสูง และการประเมินผลกระทบการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ข้อมูลเชิงพื้นที่นี้สามารถนำมาใช้วางแผนจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน เช่น วนเกษตร เกษตรเชิงอนุรักษ์ และการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม

การเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทาน : การใช้ GIS เพื่อทำแผนที่เส้นทางการขนส่งสินค้าจากแปลงผลผลิตไปถึงมือผู้บริโภค พร้อมด้วยระบบระบุตำแหน่งพิกัดภูมิศาสตร์ (GPS) เพื่อติดตามรถขนส่ง และวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานอาหาร จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และปรับเส้นทางการขนส่งให้เหมาะสม ลดระยะเวลาและระยะทางในการขนส่งระหว่างแปลงเกษตรไปถึงมือผู้บริโภค จึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่ง และยังช่วยลดการเน่าเสียของอาหารอันเกิดจากการขนส่ง ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน ทำให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงส่งผลดีต่อการส่งออกด้วย

ถึงเวลาที่เกษตรกรรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับการติดตามสภาพพื้นที่เกษตรกรรมแม่นยำและการวิเคราะห์พื้นที่ในระบบ GIS ที่จะสร้างประโยชน์อย่างมากมายดังกล่าวข้างต้น เพื่อสนับสนุนการเกษตรอย่างยั่งยืนและตามทันกระแสโลกที่กำลังตื่นตัวกับการลดก๊าซเรือนกระจก

ภาครัฐต้องถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะปฏิรูปการเกษตรบ้านเราให้เป็นระบบสมาร์ตเสียที หลังจากพูดกันมานาน มิฉะนั้น เกษตรบ้านเราจะขาดการพัฒนา ไร้ที่ยืนบนเวทีโลก ปล่อยให้ประเทศอื่นแซงหน้าไปในที่สุด

นักการเมืองทั้งหลายจึงพึงสดับเรื่องสมาร์ตฟาร์มมิ่งกันเสียที อย่ามัวงมอยู่กับการประกันราคา ประกันรายได้ ที่มีแต่จะพาเกษตรกรวนเวียนอยู่กับที่ และบ้านเมืองเป็นหนี้จนจะล้มละลายและหาความยั่งยืนอันใดไม่ได้

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1065763