หมดก็ถอดเปลี่ยน แนวทางใหม่แก้ปัญหาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า

Share

แนวคิดการเปลี่ยนถ่านถือเป็นพื้นฐานของเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่ง่ายและสะดวก เพียงนำถ่านหรือแบตเตอรี่ก้อนใหม่มาเปลี่ยนก็สามารถทำงานต่อได้ทันที แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีคนนำแนวคิดนั้นมาใช้งานกับรถยนต์ไฟฟ้า

การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในเรื่องชวนกังวลของบรรดาผู้ใช้งาน ถึงเราสามารถชาร์จจากที่บ้านแต่หากไม่ทำการติดตั้งตู้ชาร์จเป็นการเฉพาะก็ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งแม้เข้ารับบริการสถานีชาร์จนอกบ้านเพื่อย่นเวลา หลายครั้งก็จำเป็นต้องใช้เวลานานนับชั่วโมงจึงดำเนินการเสร็จสิ้น

เราต่างรู้ดีว่านี่ถือเป็นข้อจำกัดไปจนสาเหตุทำให้หลายท่านไม่นิยมใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า นำไปสู่การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาขึ้นมามากมาย ตั้งแต่เพิ่มความจุแบตเตอรี่สำหรับรองรับการวิ่งทางไกล พัฒนาแบตเตอรี่ให้รองรับการชาร์จได้ดีขึ้น หรือแม้แต่การพัฒนาหัวชาร์จให้รองรับการชาร์จด่วนด้วยกำลังไฟแรงสูงเพื่อย่นระยะเวลา

ล่าสุดกลับมีผู้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหารูปแบบใหม่ เมื่อแบตหมดก็แค่ถอดเปลี่ยนก้อนใหม่เข้าไปก็สิ้นเรื่อง

แก้ปัญหาในการชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าภายใน 5 นาที

ผลงานนี้เกิดจากบริษัท Ample ของสหรัฐฯ หลังใช้เวลาพัฒนายาวนานถึง 7 ปี ที่สุดพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในแนวคิดการจัดตั้งศูนย์การเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่แค่เพียงนำรถยนต์ไฟฟ้ามาจอดลงในตำแหน่งที่กำหนด จากนั้นก็สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกเก่าที่หมด ทดแทนด้วยแบตเตอรี่ใหม่ที่เต็มเปี่ยมจนกลับมาพร้อมใช้งานในไม่กี่นาที
แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าและผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเวลานั้น จากข้อจำกัดการเติมพลังงานรถยนต์ไฟฟ้าจากสถานีชาร์จตามปกติซึ่งใช้เวลามากกินเวลานาน แตกต่างจากการใช้รถยนต์สันดาปที่มีน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้เวลาการเติมไม่กี่นาที

นี่จึงนำไปสู่แนวคิดการพัฒนาสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ในรูปแบบของแท่นจอดรถที่สามารถขับขึ้นไปจอดด้านบน จากนั้นเมื่อทำการสั่งการผ่านแอปพลิเคชันก็จะเริ่มถอดแบตเตอรี่ลูกเก่าที่หมดพลังงานออก แล้วนำแบตเตอรี่ก้อนใหม่ที่มีประจุไฟฟ้าเต็มเปี่ยมเข้ามาทดแทนเพื่อให้รถกลับมาพร้อมวิ่งอีกครั้ง โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเพียง 5 – 10 นาที

สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่นี้ได้รับการออกแบบมาให้ทำการรองรับรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกขนาด ตั้งแต่รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กไปจนรถตู้ขนาดใหญ่ก็สามารถใช้บริการได้ทั้งสิ้น โดยระหว่างกระบวนการเปลี่ยนแบตเตอรี่นี้ ผู้โดยสารสามารถนั่งรอบนรถหรือออกมาพักผ่อนยืดเส้นยืดสายเพื่อรอให้เสร็จสิ้นกระบวนการเสียก่อนก็ได้

ตัวแบตเตอรี่ที่ทำการบรรจุและเปลี่ยนให้แก่ตัวรถได้รับการออกแบบจากทางบริษัทเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถใช้งานควบคู่กับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ได้แทบทุกชนิดตามท้องตลาด โดยปัจจุบันแบตเตอรี่ที่ได้รับการเปลี่ยนแต่ละครั้ง รองรับการวิ่งเป็นระยะทาง 120 ไมล์(193 กิโลเมตร) เลยทีเดียว

แนวคิดในการใช้งานสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ทดแทนสถานีชาร์จ

นี่อาจเป็นการตอบข้อกังวลตรงใจหลายท่านที่แม้จะชื่นชอบรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่สะดวกในการใช้งานจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยี แม้จะมีการผลักดันพัฒนาแบบก้าวกระโดด ก็ยังไม่สามารถมองเห็นแนวทางทดแทนรถยนต์สันดาปได้เต็มร้อย โดยเฉพาะในเงื่อนไขการชาร์จพลังงาน

จริงอยู่เราสามารถเติมเชื้อเพลิงผ่านการชาร์จแบตเตอรี่จากในบ้านเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น แต่แม้จะมีการติดตั้งตู้ชาร์จเป็นการเฉพาะยังต้องอาศัยเวลาราว 6 – 8 ชั่วโมง สร้างความไม่สะดวกแก่ผู้ใช้งานโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้รถเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ไปจนรถยนต์ขนาดใหญ่มีความจุมากถือเป็นเรื่องยากที่จะชาร์จได้ด้วยไฟฟ้าภายในบ้านอย่างเดียว

อีกทั้งไม่ใช่ทุกคนจะมีโรงจอดรถส่วนตัวให้สามารถติดตั้งตู้ชาร์จภายในบ้าน หากเป็นแบบนั้นระยะเวลาในการเติมพลังงานรถยนต์ไฟฟ้าจะยิ่งยาวนานถึง 10 – 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาที่แม้จะเสียบทิ้งไว้ข้ามคืนก็ไม่สามารถชาร์จพลังงานจนเต็มได้ สำหรับคนบางกลุ่มการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจึงอาจไม่สะดวกนัก

นี่จึงเป็นสาเหตุให้สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่อาจเป็นคำตอบในการขจัดข้อจำกัดทางเทคโนโลยีโดยสมบูรณ์

การนำโมเดลเปลี่ยนแบตเตอรี่นี้มาใช้ทดแทนสถานีชาร์จแบบเดิม ไม่เพียงเพิ่มความสะดวกจูงใจผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของระบบขนส่งมวลชนเช่นกัน เมื่อจากนี้ไม่จำเป็นต้องเสียบสายชาร์จรอระยะเวลานานอีกต่อไป อาศัยการเปลี่ยนแบตเตอรี่เพียงไม่กี่นาทีก็พร้อมสำหรับให้บริการต่อ

ตัวสถานีอาศัยระยะเวลาในการติดตั้งต่อแห่งแค่เพียง 3 วัน โดยไม่ต้องการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับมากนัก ช่วยให้สามารถทำการขยายและกระจายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สะดวก อีกทั้งตัวสถานียังได้รับการทดสอบว่าสามารถทำงานได้ตามปกติแม้ตั้งอยู่กลางแจ้ง หรือต้องเผชิญอุณหภูมิหรือสภาพอากาศแปรปรวนก็ยังทำงานได้มีประสิทธิภาพเช่นเดิม

นี่จึงอาจเป็นคำตอบในแนวทางการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าให้แพร่หลายและเข้าถึงทุกคนได้อย่างแท้จริง

น่าเสียดายที่ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้ยังถูกใช้งานจำกัดเพียงในรัฐซานฟรานซิโก ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากนัก กระนั้นบริษัทขนส่งสาธารณะอย่าง Uber และ Sally เองก็เริ่มให้ความสนใจและนำไปปรับใช้แล้วเช่นกัน ซึ่งจากที่ทดลองมาก็ให้ผลลัพธ์น่าสนใจทีเดียว

ดังนั้นอีกไม่ช้าประเทศไทยก็อาจมีผู้สนใจจัดตั้งสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ขึ้นมาก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/post-next/innovation/695806