ธุรกิจ SME ติดกับดักโลกร้อน โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่

Share

โลกกำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าที่คิด และคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสที่จะร้อนที่สุดในประวัติการณ์ โดยจะสูงเกินทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายใน 5 ปีนี้ ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในประเทศไทย ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป

ส่งผลให้โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ ให้ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนในระยะอันใกล้นี้ โดยยังมีกฎระเบียบ มาตรการ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่ในหลายประเด็นยังคงมีความคลุมเครือ ในขณะที่ภาคเอกชนจำนวนมากที่ยังไม่ปรับตัว จึงเป็นโจทย์แก่รัฐบาลให้ต้องเร่งสร้างความชัดเจนเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองโจทย์สำคัญที่ควรเร่งดำเนินการและวางรากฐานของประเทศ คือ

1. ภาคเอกชนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมและความตื่นตัวเกี่ยวกับมาตรการและการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม โดยผลสำรวจการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า มีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามส่วนน้อยเพียง 25% เท่านั้นที่เริ่มมีการดำเนินการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการของบริษัทแล้ว และในจำนวนดังกล่าว กว่าครึ่ง (55%) ยังไม่ได้ดำเนินการวัดและจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินท์จากการดำเนินงานของบริษัท สะท้อนหนทางและการต้องลงมือและลงแรงอีกมากจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วยกัน

2. ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมาย Net Zero ขั้นต่ำลงในระดับอุตสาหกรรมให้ชัดเจน โดยจากการที่ไทยเคยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2563 จำนวน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ไทยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ดังที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีแผน Road Map ให้ประเทศสามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังคงมุ่งเน้นที่ภาคพลังงาน และผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก นั่นหมายความว่า เพื่อการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้ได้ตามที่ให้คำมั่นไว้ หรือได้เร็วกว่าเดิมนั้น คงเป็นโจทย์ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่ภาคพลังงาน แต่ยังคงต้องบูรณาการให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยอาจเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อย Emission ขั้นต่ำที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และมีการสร้างแผนงานที่ชัดเจนและร่วมกันทำงานระหว่างหน่วยงานของทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งวางแนวทางขับเคลื่อนภาคธุรกิจ รับมือกับโจทย์ด้านนโยบาย/มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากต่างประเทศ โดยถึงแม้ว่าในประเทศไทยจะมีการดำเนินโครงการประเภท Decarbonization หรือ Clean Technology บ้างแล้ว เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยผลจากแบบสอบถาม พบว่า มีระดับผลลัพธ์จากปรับเปลี่ยนเมื่อเทียบกับการดำเนินงานในกรณีปกติประมาณ 10-30% (ข้อมูลจากผลสำรวจ) แต่ก็เป็นการดำเนินการเพื่อเป้าหมาย Carbon Neutral หรือ Net Zero policy ของภาคเอกชนไทยเป็นหลัก ซึ่งเป็นการดำเนินการในรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) ที่ไม่มีข้อกำหนด หรือระเบียบจากภาครัฐมาบังคับปฏิบัติ ดังนั้น การสร้างความคืบหน้าในระดับประเทศจึงยังอยู่ในวงจำกัด

ในขณะที่ความน่ากังวลอย่างยิ่งคือ โจทย์มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้นตามลำดับ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่จะเริ่มให้รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียูในเดือนตุลาคม 2566 และเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569 แต่ปัจจุบัน ยังรอภาพการสื่อสารถึงนโยบายจากภาครัฐเพื่อมาดูแลกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งควรครอบคลุมถึงประเด็นว่าควรต้องดำเนินการเช่นไร ด้วยมาตรฐานใด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมรายใหญ่ในการเป็นห่วงโซ่การผลิตสามารถปรับตัวตามเกณฑ์มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวให้ทัน และยังสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกไว้ได้

ภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อจูงใจและชดเชยผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด แม้จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อภาระทางการคลัง เนื่องจากในการมุ่งเน้นให้ภาคพลังงานหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น อาจส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ผ่านนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จูงใจกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอาจส่งผ่านไปยังค่าไฟของประชาชน ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าการดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการดำเนินการเป็นสิ่งแรกๆ โดย 64% ของผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน ตามด้วยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มองว่าผลของการดำเนินการดังกล่าวมีผลในการเพิ่มต้นทุนในกรอบไม่เกิน 10% จากกรณีปกติ (45%-55% ของผู้ตอบ) และในกรอบ 10-30% (18%-27% ของผู้ตอบ) ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินการ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า หากมีนโยบายสนับสนุนที่จูงใจมากพอก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถเข้าถึงมาตรการของภาครัฐได้มากกว่าธุรกิจ SMEs สอดคล้องกับข้อมูลผลสำรวจความคาดหวังต่อการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ที่ภาคเอกชนที่ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (96%) ต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการที่จูงใจมากพอ เช่น กองทุนสนับสนุน การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจที่มีการดำเนินการด้าน ESG ตามด้วยการบูรณาการหน่วยงานกำกับดูแลแบบรวมศูนย์ (69%) และเพิ่มการแข่งขันของบริการที่ปรึกษาในการวิเคราะห์และประเมินผลด้าน ESG หรือการบริการด้าน Carbon footprint verification เพื่อให้มีค่าบริการถูกลง (49%)
ทั้งนี้ สำหรับมาตรการสนับสนุนที่ได้ดำเนินการออกมาแล้ว อาจต้องลดข้อกำหนดที่อาจไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการ SMEs เช่น มาตรการยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษีของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำของเงินลงทุน มาตรการลดภาษีสรรพสามิตและให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่อาจเอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพิจารณาให้แรงจูงใจผู้ประกอบการเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนการผลิตหรือการทำธุรกิจไปสู่มาตรฐานของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น เช่น อาจพิจารณาให้สิทธิการลดหย่อนทางภาษีในอัตราก้าวหน้า ตามการลงทุนที่ธุรกิจทำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อสนับสนุนให้เกิดการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในทุกระดับอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

นอกจากนี้ อาจพิจารณาผลักดันนโยบายส่งเสริมตลาดคาร์บอนเครดิต ผ่านการแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายในตรวจวัดและรับรองคาร์บอนเครดิตที่ธุรกิจ SMEs อาจมองว่าไม่คุ้มค่า ซึ่งภาครัฐอาจต้องมีส่วนในการสรรหาที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมให้มีจำนวนมากขึ้น เข้าถึงได้ง่าย และเหมาะสมต่อระดับความเข้มงวดของมาตรฐานหรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องใช้ ขณะเดียวกัน ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุนของภาคเอกชนบางส่วน ภาครัฐอาจพิจารณาให้การสนับสนุนด้านเงินทุนที่นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกิจการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า กิจการด้านพลังงานใหม่ เช่น ไฮโดรเจน แอมโมเนีย กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวอย่างของมาตรการในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา และอียู

ทั้งนี้ โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็อาจเป็นทางเลือกที่ยากสำหรับการดำเนินการในขั้นแรกของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวอาจจะเป็นโจทย์ที่ยังรอได้มากกว่าการให้ความสำคัญแก่เรื่องปากท้องและเศรษฐกิจที่มีความเร่งด่วน ยิ่งไปกว่านั้น หากจะใช้มาตรการสนับสนุนด้านการปรับตัวลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกับผู้ประกอบการ ก็อาจต้องแลกกับภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ในการชั่งน้ำหนักและหาความสมดุลในการดำเนินการ เพื่อยกมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับธุรกิจไทย เนื่องจากหากยิ่งช้า ก็จะยิ่งกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และคุณภาพชีวิตของประชากรไทยในภาพรวม

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/06/22/sme-business-and-global-warming/