จากสวีเดนถึงเปรู…หุ่นยนต์อัตโนมัติและเทคโนโลยีคลาวด์ ช่วยฟื้นฟูผืนป่าแอมะซอนได้อย่างไร

Share

Loading

YUMI หุ่นยนต์อัตโนมัติที่อาศัยเทคโนโลยีคลาวด์จากประเทศสวีเดน ช่วยฟื้นฟูป่าฝนแอมะซอนในพื้นที่ประเทศเปรู ด้วยการเพาะเมล็ดและปลูกต้นไม้ทีละกระถาง โดยสามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ช่วยแบ่งเบาภาระอาสาสมัครในการปลูกป่า

หุ่นยนต์สองแขนที่ทำงานอัตโนมัติและควบคุมจากระยะไกลชื่อ YuMi กำลังช่วยอาสาสมัครฟื้นฟูป่าฝนแอมะซอนด้วยการเพาะเมล็ดพืชและปลูกต้นไม้ทีละกระถาง โดย YuMi เป็นโครงการนำร่องระหว่าง ABB Robotics หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและประหยัดทรัพยากรมากขึ้น และ Junglekeepers องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกาที่มีวัตถุประสงค์ในการดูแลป่าอนุรักษ์หวังที่จะปกป้องพื้นที่ 55,000 เอเคอร์ (ราว 139,150 ไร่) ของป่าฝนแอมะซอน พร้อมกับต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่า และด้วยการสนับสนุนของ YuMi และ ABB Robotics ทำให้การเดินทางสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ทีละก้าวเป็นไปได้มากขึ้น

Moshin Kazmi ผู้ร่วมก่อตั้ง Junglekeepers กล่าวว่า “ณ ตอนนี้ เราได้สูญเสียพื้นที่ป่าฝนแอมะซอนไปแล้ว 20% หากไม่ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน การอนุรักษ์ก็จะหยุดชะงักทันที การมี YuMi อยู่ที่ฐานของเราเป็นวิธีที่ดีทำให้เราเห็นวิธีการใหม่ๆ ที่ช่วยเร่งและขยายปฏิบัติการฟื้นฟูผืนป่าแห่งนี้ และทำให้ภารกิจของเราก้าวหน้า”

YuMi รับผิดชอบงานปลูกต้นไม้ในห้องทดลองในป่าแอมะซอนที่อยู่ในพื้นที่ของประเทศเปรู ในขณะที่ระบบอัตโนมัติที่ใช้ควบคุมจากระยะไกลนั้นกำลังดำเนินการในประเทศสวีเดน โดยระบบอัตโนมัติจะช่วยเร่งกระบวนการปลูกป่าให้เร็วขึ้น จากการที่ผู้เชี่ยวชาญของ ABB จำลอง ปรับแต่ง และปรับใช้โปรแกรมระยะไกลแบบเรียลไทม์ ด้วยเทคโนโลยี ABB RobotStudio Cloud จากเมืองเว็สเตอรวส ประเทศสวีเดน ซึ่งอยู่ห่างจากผืนป่าแห่งนี้ออกไปไกลถึง 12,000 กิโลเมตร ทำให้ YuMi เป็นหุ่นยนต์อัตโตมัติถูกควบคุมจากระยะไกล

ทั้งนี้ YuMi ได้รับการต่อยอดมาจากหุ่นยนต์ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2558 เพื่อตอบสนองความต้องการการผลิตที่ยืดหยุ่นและคล่องตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค แต่ด้วยแขนคู่ กริปเปอร์ที่ยืดหยุ่น ตำแหน่งส่วนประกอบของกล้อง และการควบคุมการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ ยังทำให้มันเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการประกอบชิ้นส่วนขนาดเล็กใดๆ รวมถึงการเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ด้วย

ABB Robotics ได้ติดตั้ง YuMi หุ่นยนต์ติดอาวุธสองแขนในพื้นที่เงียบสงบของป่าแอมะซอนของเปรู โดยเฉพาะในห้องทดลองในป่าซึ่งหุ่นยนต์มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการปลูกเมล็ดพันธุ์

ด้วยระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ YuMi สามารถขุดหลุมในดินได้อย่างอิสระโดยใช้พลั่วขนาดเล็กที่ถูกติดตั้งไว้ที่ปลายแขนหุ่นยนต์ รวมถึงหว่านเมล็ดพืช บดดินให้แน่น และแม้กระทั่งทำเครื่องหมายกระถางที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพด้วยแท็กรหัสสี จากนั้นอาสาสมัครจาก Junglekeepers จะนำลังทั้งใบที่ YuMi ปลูกเมล็ดพันธุ์เสร็จแล้ว ไปเก็บที่เรือนเพาะชำเพื่อนำไปปลูกในภายหลัง

ABB ระบุว่าด้วยความช่วยเหลือของ YuMi ทำให้ตอนนี้ในแต่ละวัน Junglekeepers สามารถเพิ่มพื้นที่การฟื้นฟูเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 2 สนาม โดยเน้นไปที่โซนที่ต้องการการปลูกป่าเพิ่มเติม หรือพื้นที่ที่ป่าถูกทำลาย

จากการที่หุ่นยนต์ YuMi ปฏิบัติงานด้วยตนเองในการฟื้นฟูป่าฝนแอมะซอน ช่วยให้อาสาสมัครที่ Junglekeepers สามารถจัดสรรเวลาและทรัพยากรของตนในการลาดตระเวนเพื่อยับยั้งผู้ลักลอบตัดไม้ รวมถึงให้ความรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าฝน ทั้งช่วยแก้ปัญหาความท้าทายในการค้นหาบุคคลที่เต็มใจที่จะอาศัยและทำงานในพื้นที่ป่าห่างไกลได้อีกด้วย

เมื่อตั้งค่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว YuMi จะทำงานโดยอัตโนมัติ โดยมีช่างเทคนิคระยะไกลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเมื่อจำเป็นเท่านั้น

Sami Atiya ประธาน ABB Robotics and Discrete Automation กล่าวว่า “ความร่วมมือของ ABB กับ Junglekeepers แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์และเทคโนโลยีคลาวด์สามารถมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าได้อย่างไร และหุ่นยนต์ระยะไกลที่สุดในโลกกำลังช่วยทำงานที่ต้องทำซ้ำจำนวนมากโดยอัตโนมัติได้อย่างไร”

ทั้งนี้ ป่าฝนอเมซอนขึ้นชื่อว่าเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นที่อยู่ของ 1 ใน 10 สายพันธุ์ที่มนุษย์รู้จักบนโลกนี้ โดยลุ่มน้ำแอมะซอนครอบคลุม 9 ประเทศในอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย เปรู เอกวาดอร์ โคลอมเบีย เวเนซุเอลา กายอานา ซูรินาเม และเฟรนช์เกียนา พื้นที่ลุ่มน้ำแอมมะซอนนี้มีสัดส่วนถึง 40% ของภูมิภาคอเมริกาใต้ แต่จากรายงานของ World Economic Forum เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าพื้นที่ป่าฝนแอมะซอนที่สำคัญกว่า 870,000 กิโลเมตร ได้ถูกแผ้วถางออกไปอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2528 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อการเกษตรกรรม

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/06/29/yumi-robot-amazon-reforestation/