ยุโรปกำลังใช้ AI แก้ปัญหา ‘โรคอ้วน’ โดยทำนายความอ้วนตั้งแต่มนุษย์ยังเป็น ‘ตัวอ่อน’

Share

ในภาวะที่มนุษย์กินดีอยู่ดีอายุยืนยาวขึ้นในปัจจุบัน ‘โรคอ้วน’ กลายมาเป็นภัยร้าย เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคอวัยวะภายในและภาวะเจ็บป่วยสารพัดที่สามารถพัฒนาผสมกันจนกลายมาเป็นความเจ็บป่วยที่ถึงชีวิตได้ในยามสูงวัย และก็ไม่แปลกที่องค์การด้านสาธารณสุขระดับโลกก็ล้วนเห็น ‘ปัญหา’ นี้เป็นเรื่องใหญ่กัน โดยทุกวันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าปัญหานี้จำกัดแค่ประเทศร่ำรวยแล้ว เพราะประเทศที่เคยได้ชื่อว่าอดอยากสุดๆ อย่างเอธิโอเปียยังมีปัญหาโรคอ้วนแพร่หลายอยู่

ก่อนหน้านี้ คนจะมองว่าโรคอ้วนเป็นโรคที่เกิดจาก ‘พฤติกรรม’ ล้วนๆ เช่นมองว่าปัญหาคือการไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ของผู้ป่วยเอง

แต่ปัจจุบัน การศึกษาที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ในทางการแพทย์มองว่ามันมีส่วนผสมของทั้ง ‘พันธุกรรม’ และบริบททางสังคมต่างๆ เต็มไปหมดที่ทำให้คน ‘อ้วน’ คือเราไม่สามารถลดทอนว่าคนมันอ้วนเพราะแค่ ‘ตามใจปาก’ แบบในอดีตอีกแล้ว

ซึ่งพอรู้ดังนี้ ในทางสาธารณสุขเลยเริ่มมองว่าถ้าเรามาหาปัจจัยเสี่ยงแต่เนิ่นๆ แล้วพยายามหาวิธีการ ‘ป้องกัน’ จะเป็นการแก้ปัญหาโรคอ้วนในระยะยาวได้ เพราะทั่วๆ ไปในทางสาธารณสุข การ ‘ป้องกัน’ ต้องมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการตามไป ‘แก้’ สิ่งที่เป็น ‘ปัญหา’ ไปเรียบร้อยแล้ว

นี่คือที่มาของโครงการ Eprobes ของ Center for Biomedical Research Network (CIBER) ที่ใช้ทุนกว่า 10 ล้านยูโรในการรวมนักวิจัยจากชาติยุโรปเกือบ 10 ชาติมาที่สเปน เพื่อทำการศึกษาวิจัยในการวินิจฉัย ‘ความเสี่ยงโรคอ้วน’ ในเด็ก

และความน่าสนใจของโครงการนี้ คือความพยายามคาดเดาเด็กคนหนึ่งว่าจะเกิดมา ‘อ้วน’ ก่อนจะเกิด คือจะวิเคราะห์หมดเลยตั้งแต่พันธุกรรม ยันปัจจัยเสี่ยงทางสังคมอื่นๆ พูดอีกแบบคือไม่ดูปัจจัยที่ทำให้อ้วนจาก ‘พฤติกรรม’ แล้ว แต่ดูจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ทั้งหมดในการคาดเดาว่าคนจะอ้วนหรือไม่

ไอเดียนี้ เกิดจากเขาต้องการจะระบุมนุษย์เป็นรายคนไปเลยว่าคนไหน ‘เสี่ยงจะอ้วน’ จะได้มีมาตรการป้องกันได้ถูก ก่อนที่จะอ้วน เพราะนี่เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าอย่างที่ว่า และการวางแผนป้องกันนี้ก็คือย้อนไปตั้งแต่ก่อนเกิดนั่นเลย

แน่นอน ไอเดียมันดูบรรเจิดมาก แต่ถ้าลองคิดไปให้ไกล ตรรกะมันก็ดูสุ่มเสี่ยงอยู่ถ้าเปลี่ยนจากเรื่อง ‘อ้วน’ เป็นเรื่องอื่น เช่น เราทำแบบเดียวกันเป๊ะๆ ได้กับ ‘ความเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรม’ คือเราสามารถ ‘ทำนาย’ ตั้งแต่ก่อนคนคนหนึ่งจะเกิดได้ว่า เขาโตมาน่าจะก่ออาชญากรรมหรือไม่

ดังนั้น ประเด็นการใช้ ‘AI ทำนายอนาคต’ แบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ในบริบทสาธารณสุขเราอาจมองว่าไม่มีพิษภัยอะไร แต่ถ้ามาใช้ในบริบทอาชญวิทยามันอาจจะเป็นคนละเรื่องเลย

และที่สำคัญและ ‘น่ากลัว’ ก็คือ การเก็บข้อมูลมนุษย์ตั้งแต่เป็นตัวอ่อนเพื่อคาดเดาอนาคตของเขา ถึงจะอ้างว่า ‘ทำไปเพื่อเหตุผลทางสาธารณสุข’ แต่ในทางปฏิบัติ ถ้ามันถูกเอาไปใช้ในแง่มุมอื่นๆ มัน ‘น่ากลัว’ ทั้งนั้น และนั่นไม่ใช่แค่ใช้คาดเดาแค่ว่าเขาโตมาจะเป็นอาชญากรรมหรือไม่ เพราะมันใช้ในภาคธุรกิจในการคาดเดาแนวโน้มการบริโภคของคนคนหนึ่งเพื่อยิงโฆษณาก็ได้เช่นกัน

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=835796718108666&set=a.811136580574680