วงการอาหารสะเทือน! “Ice-creme Robot” & “Noodle Robot” โรบอทสายอาชีพของไทย

Share

Loading

รู้จัก “Ice-creme Robot” & “Noodle Robot” หุ่นยนต์ที่ Matching ระหว่างเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์กับการทำอาหาร ที่ “FIBO” พัฒนา

ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนามากเท่าไร การเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของ โรบอท หรือ หุ่นยนต์ ดูจะชัดเจนขึ้นทุกที หลายอุตสาหกรรม หลายธุรกิจ เริ่มลดจำนวนพนักงานในบางสายงาน  แล้วทดแทนด้วยหุ่นยนต์ หรืออย่างน้อยก็ใช้หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ แม้แต่แวดวงธุรกิจอาหารในประเทศไทย ก็ได้มีทั้งร้านอาหารและบริษัทผู้ผลิตหลายรายพัฒนาและนำหุ่นยนต์มาใช้ในขั้นตอนที่กระบวนการซ้ำๆ ซึ่งจะเหมาะกับหุ่นยนต์

แต่ไม่เพียงแค่นั้น ปัจจุบันหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมอาหารได้ก้าวไปอีกขั้น เพราะทำงานได้หลากหลายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทั้งด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่ง FIBO หรือ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาโชว์ในงาน TEP x OIIO Asia Techland 2023 โดยมีไฮไลท์เป็นสองหุ่นยนต์ที่จะทำให้วงการอาหารต้องสะเทือน!

Ice-creme Robot: หุ่นยนต์เสิร์ฟไอศกรีม

Ice-creme Robot: หุ่นยนต์เสิร์ฟไอศกรีม คือแขนกลที่ติดตั้งอยู่บนรถกระบะที่ดัดแปลงเป็นร้านขายไอศกรีม หรือ Food trucks โดยมีมอเตอร์ควบคุมให้ขยับหรือหมุนแขนแต่ละส่วน เพื่อให้ปลายของแขนกลที่จับโคนไอศกรีมเคลื่อนแขนไปรับเนื้อไอศกรีมที่ไหลออกจากเครื่องหยอดที่ตั้งอยู่ภายใน แล้วนำไอศกรีมโคนกลับมาส่งให้ลูกค้าที่ยืนรอด้านหน้าได้อย่างแม่นยำ โดยขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาเพียง 40 วินาทีเท่านั้น

“เนื่องจากท้ายรถกระบะมีพื้นที่จำกัด เราจึงเลือกใช้แขนกล มาเป็นอุปกรณ์หลักของงานชิ้นนี้ เพราะเมื่อเรากำหนดจุดหรือตำแหน่งที่มอเตอร์แต่ละตัวต้องขยับในแต่ละขั้นตอนของการทำงานได้อย่างถูกต้องเข้าไปในโปรแกรม แขนกลก็จะทำงานไปตามระบบที่ตั้งไว้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจากการที่ผมและเพื่อนผ่านงานเขียนโปรแกรมบังคับแขนกลของโรงงานมาแล้ว จึงได้รับมอบหมายให้ทำงานชิ้นนี้ ด้วยการใช้แขนกลในห้องปฏิบัติการของ FIBO มาติดตั้งกับรถกระบะ และเคลื่อนไหวด้วยโปรแกรมที่เราสร้างขึ้นเพื่อภารกิจนี้” ธัชภูมิ ธัชธัน นักศึกษา FIBO ชั้นปีที่ 4 อธิบายหลังจากใช้เวลาพัฒนา “Ice-creme Robot” เพียง 7 วัน

การที่นักศึกษานำแขนกลที่ใช้เพื่อการเรียนในห้องปฏิบัติการมาพัฒนาให้เสิร์ฟไอศกรีมบนรถกระบะที่มีพื้นที่แคบได้ในเวลาเพียงสั้นๆ เช่นนี้ ทำให้ สุทธิเดช ธุวะศรี เจ้าของแบรนด์ไอศกรีมดูคาติม มองไปถึงความเป็นไปได้การนำชิ้นงานนี้ไปใช้กับธุรกิจไอศกรีมของตนเอง

“น้องๆ บอกว่า หากมีเวลามากกว่านี้ ก็จะพัฒนาเป็นระบบสมบูรณ์ได้มากขึ้น ซึ่งทางบริษัทฯ เอง เราก็มองไปถึงการนำระบบแขนกลมาใช้ทำงานทุกขั้นตอนโดยอัตโนมัติ เพียงแค่กดสั่งและชำระเงินผ่านตัวเครื่องหรือแอปบนมือถือ ก็ยืนรอรับไอศกรีมได้เลย ซึ่งต่อไปหากเราพัฒนาตรงนี้ร่วมกับ FIBO ก็คาดว่าน่าจะสำเร็จได้ในเวลาไม่เกินครึ่งปี”

Noodle Robot: หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว

Noodle Robot: หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว เป็นอีกรูปแบบของการต่อยอดให้กับอาหารไทยด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้อย่างน่าสนใจ หลังจากลูกค้าเลือกเมนูที่ต้องการแล้ว แขนกลของหุ่นยนต์จะยืดไปหยิบตะกร้อซึ่งใส่เส้นแล้วนำไปลวกในหม้อ ก่อนนำมาเทในชามที่เตรียมไว้เป็นลำดับแรก จากนั้นแขนกลก็จะไปหยิบตะกร้อที่ใส่ลูกชิ้น ผักบุ้ง และอื่นๆ มาลวกในหม้อก๋วยเตี๋ยวตามเวลาที่กำหนดไว้ ก่อนยกขึ้นมาและเทลงไปในชาม เพื่อส่งให้ลูกค้าต่อไป โดย “Noodle Robot” เป็นการจับคู่กันระหว่าง ร้านก๋วยเตี๋ยวนายอ้วน กับ บริษัท แอนท์ โรโบทิกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท System Integrator ศิษย์เก่า FIBO ที่ตั้งขึ้นหลังจากเห็นโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

โชคชัย เป็งยะสา ศิษย์เก่าปริญญาโท FIBO และเจ้าของบริษัทแอนท์ โรโบทิกส์ เล่าถึงแนวคิดและการพัฒนา “หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว” ที่ใช้เวลาในการสร้างเพียง 8 วัน และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือในการพัฒนาต่อยอด เพื่อนำไปติดตั้งและใช้งานจริงกับบางสาขาของร้านก๋วยเตี๋ยวนายอ้วนต่อไปว่า

“โจทย์ของงานนี้คือการนำศาสตร์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์ที่ FIBO สอนอยู่ ทั้งระบบเคลื่อนไหว ระบบควบคุม ระบบไฟฟ้า ระบบ logic ต่างๆ ตลอดจนทักษะในการวางแผนการทำงาน ร่วมกับประสบการณ์ด้าน robotics ของบริษัท มาเลียนแบบขั้นตอนการลวกก๋วยเตี๋ยวของพ่อครัวตัวจริง ซึ่งแม้จะมีหลายขั้นตอนที่ต้องเปลี่ยนไปบ้าง เช่น เปลี่ยนไปใช้หม้อไฟฟ้าที่ควบคุมอุณหภูมิได้ดีกว่า การยกตะกร้อขึ้นมาสะบัดแทนการจุ่มตะเกียบลงไปคนเส้นในตะกร้อ  ซึ่งจากการลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง ด้วยข้อมูลจริง ทั้งอุณหภูมิเวลา และการเปรียบเทียบกับของจริง  ทำให้ก๋วยเตี๋ยวที่ผ่านการลวกด้วยหุ่นยนต์ของเรามีรสชาติใกล้เคียงกับสูตรต้นฉบับ”

ทั้ง “หุ่นยนต์เสิร์ฟไอศกรีม” และ “หุ่นยนต์ลวกก๋วยเตี๋ยว” เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้ว มาใส่ไอเดียทำให้เกิดผลงานใหม่ที่ทำงานได้จริงภายใต้งบประมาณและเวลาที่จำกัด ซึ่งต่อไปจะเป็นอนาคตของวงการหุ่นยนต์และอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ของไทย

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1076406