ปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเริ่มมีการพูดถึงระบบตรวจจับด้วยกล้องวงจรปิดอัจฉริยะจาก AI แม้นี่ไม่ใช่ของใหม่แกะกล่อง แต่หลายประเทศก็เริ่มตั้งคำถามในการนำมาใช้งานเช่นกัน
กล้องวงจรปิด หนึ่งในอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ถูกใช้งานในฐานะอุปกรณ์บันทึกภาพเพื่อยืนยันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ สามารถพบเห็นได้ตามท้องถนน อาคารบ้านเรือน หรือแม้แต่รถยนต์ส่วนบุคคล เรียกว่าเป็นหนึ่งในระบบรักษาความปลอดภัยที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน สำหรับภาครัฐนี่ก็ถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยระบุตัวตนในพื้นที่สาธารณะเป็นอย่างดี ช่วยให้สามารถตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ใช้งานในการดูแลรักษาความสงบภายในประเทศ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้สามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ล่าสุดจึงเริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาปรับใช้ นำไปสู่การพัฒนา กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ในที่สุด
ขั้นกว่าในการรักษาความปลอดภัย กล้องวงจรปิดอัจฉริยะจาก AI
ความก้าวหน้าของ เอไอ หรือ ปัญญาปัญญาประดิษฐ์ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง การพัฒนาก้าวกระโดดสร้างแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ทางสังคม หลายภาคส่วนจึงเริ่มมองเห็นแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ สู่การคิดค้นกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ที่เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายทั่วทุกมุมโลก
ในสหราชอาณาจักรเริ่มมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ สามารถตรวจสอบการทิ้งขยะของคนขับและผู้โดยสารที่อยู่ภายในรถ จากนั้นจะทำการระบุป้ายทะเบียนและส่งข้อมูลนี้ไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยอัตโนมัติ นำไปสู่การออกใบสั่งเสียค่าปรับซึ่งมีมูลค่าสูงสุดถึง 100 ปอนด์(ราว 4,400 บาท)เลยทีเดียว
ทางด้านสหรัฐฯได้มีการนำระบบ AI มาใช้ร่วมกับ ระบบอ่านป้ายทะเบียนอัตโนมัติ(ALPR) ซึ่งมีการติดตั้งร่วมกับกล้องตามถนนและรถตำรวจ เพื่อนำมาตรวจสอบกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ จนสามารถทำได้ทั้งตรวจสอบป้ายทะเบียน แจ้งเตือนแก่เจ้าหน้าที่ ไปจนสังเกตและตรวจสอบพฤติกรรมคนขับเพื่อประเมินความเสี่ยงได้อีกด้วย
ฝรั่งเศสเองก็มีการนำ AI มาช่วยตรวจสอบพฤติกรรมน่าสงสัย ทั้งการรวมตัวกันของฝูงชน ความวุ่นวายในพื้นที่สาธารณะ หรือกระเป๋าสัมภาระที่ถูกทิ้งโดยไม่มีเจ้าของ ข้อมูลผิดปกติของกล้องหลายร้อยตัวจะได้รับการตรวจสอบโดยเอไอ จากนั้นจึงแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้ทำการเข้าตรวจสอบ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการดูแลความปลอดภัยรองรับโอลิมปิกปี 2024
ทั้งหมดคือความก้าวหน้าของระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการรักษาความปลอดภัย ป้องกันเหตุร้าย และมีส่วนช่วยในการระบุตัวผู้กระทำผิดได้ดียิ่งขึ้น ช่วยยกระดับความปลอดภัยในสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวมไปพร้อมกัน
แต่ก็ใช่จะมีเพียงข้อดีเมื่อกล้องวงจรปิดอัจฉริยะอาจเป็นภัยได้เช่นกัน
การควบคุมเกินขอบเขต สู่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
จริงอยู่การนำเทคโนโลยีมีส่วนช่วยในการดูแลรักษาความปลอดภัย ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ถึงคุณค่าของกล้องวงจรปิดไปจนกล้องหน้ารถต่างๆ ความปลอดภัยในสังคมเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องดี แต่นั่นก็ต้องทำให้เราตั้งคำถามกับความเป็นส่วนตัวด้วยเช่นกัน
สำหรับท่านที่ติดตามข่าวเทคโนโลยีคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ชาติแรกที่นำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการคัดกรองตรวจสอบไม่ใช่ชาติตะวันตกแต่เป็น จีน กับการพัฒนาระบบตรวจจับท่าเดินเพื่อยืนยันตัวตน หรือแม้แต่ระบบกล้องอัจฉริยะจาก AI ที่สามารถยืนยันตัวตนบุคคลได้แม้มีการสวมหน้ากากอนามัยก็ตาม
แม้ระบบการตรวจจับใบหน้าช่วยให้การค้นหาตัวบุคคลทำได้สะดวกรวดเร็ว ป้องกันภัยร้ายจากเหตุอาชญากรรม ทำให้การควบคุมความสงบสามารถทำได้ง่าย อีกทั้งระบบตรวจจับใบหน้าภายใต้หน้ากากอนามัยเอง ยังมีคุณสมบัติตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อถึง 95% มีประโยชน์ในการควบคุมโรคก็จริง แต่ก็นำไปสู่การตั้งคำถามมากมาย
เราต่างทราบดีว่ารัฐบาลจีนขึ้นชื่อเรื่อง การใช้อำนาจรัฐควบคุม แทรกแซง และรุกล้ำความเป็นส่วนตัวเป็นอันดับต้นๆ การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งาน ย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามว่าระบบตรวจสอบนี้จะถูกนำไปใช้แค่ไหน? การรักษาความปลอดภัยแก่สังคมดังกล่าว จะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาความมั่นคงต่อไปหรือไม่? ถามนี้ไม่ได้จำกัดแค่เพียงในประเทศจีนแต่เริ่มย้อนกลับมาถึงชาติตะวันตกเช่นกัน ในสหรัฐฯระบบตรวจจับรถยนต์จะไม่เพียงสอดส่องป้ายทะเบียน แต่ทำได้แม้แต่การตรวจสอบยี่ห้อ สี และรุ่นของรถ อาจนำไปสู่การสอดแนมและเข้าถึงข้อมูลเกินขอบเขตของรัฐบาลสหรัฐฯซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยังไม่มีการควบคุมตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก
เช่นเดียวกับระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะจากทางฝรั่งเศส จริงอยู่นี่เป็นระบบที่ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับโอลิมปิกปี 2024 แม้ทางการจะยืนยันว่าไม่มีระบบจดจำใบหน้า แต่นักเคลื่อนไหวหลายคนต่างตั้งคำถามว่า การวิเคราะห์ภาษากายและพฤติกรรมแล้วทำการแจ้งเตือนทั้งที่บางครั้งยังไม่มีการก่อเหตุ ถือเป็นการควบคุมสังคมรูปแบบหนึ่ง เพราะอาจนำไปสู่การสูญเสียสิทธิในการแสดงออกอย่างอิสระโดยไม่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามเช่นกันว่า การพัฒนาระบบตรวจจับพฤติกรรมนี้ เกิดขึ้นเพื่อควบคุมการชุมนุมเรียกร้องสิทธิของพลเมืองภายในประเทศหรือไม่ แม้รัฐบาลและบริษัทผลิตซอฟต์แวร์จะออกมายืนยันว่าการสอดส่องดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่นักเคลื่อนไหวหลายคนพากันแสดงความคิดเห็นว่า นี่ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดในประเทศจีนเลย
คงต้องรอดูกันต่อไปว่าระบบตรวจด้วยกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ จะถูกนำไปใช้งานทิศทางใด ส่วนนี้อาจขึ้นกับการตีความการรักษาความสงบเรียบร้อยในแต่ละประเทศ แต่จากทิศทางการพัฒนาคาดว่า ในไม่ช้าทั่วโลกอาจพากันใช้งานระบบตรวจจับนี้เช่นกัน ถึงตอนนั้นคงต้องรอดูกันอีกทีว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกผลักดันไปในทิศทางใด
ที่แน่ใจมีเพียงนี่เป็นอีกหนึ่งข้อโต้แย้งจากการขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราโดยตรง
แหล่งข้อมูล