OpenThai และ อลิสา ChatGPT ฝีมือคนไทย – ทักษะอินเตอร์

Share

Loading

ชวนรู้จัก OpenThai GPT และ อลิสา (Alisa) โมเดลแชตบอตที่มีฐานข้อมูลเป็นภาษาไทย ตอบคำถามภาษาไทยได้แม่นยำ เทคโนโลยีพร้อมใช้ทักษะระดับอินเตอร์

OpenThai GPT และอลิสา (Alisa) โมเดลแชตบอตสัญชาติไทย ขับเคลื่อนวงการเอไอผู้สร้าง (Generative AI) นำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันตลอดจนนำไปใช้งานในอุตสาหกรรม ขณะที่สถิติและแนวโน้มด้านอุตสาหกรรมเอไอของ Forbes คาดว่าตลาดด้านเอไอโดยรวมจะสูงถึง 407 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2570

OpenThaiGPT เป็นความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) และหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแชตบอตที่สามารถพูดและใช้ฐานข้อมูลที่มีภาษาไทยเป็นตัวหลักได้เหนือกว่า ChatGPT

GPT สัญชาติไทย

ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า OpenThai ที่พัฒนาใช้โมเดลแบบเดียวกับ chatGPT โดยอยู่ในระดับ ver. 1.0.0 ขณะนี้เปิดให้ทุกคนใช้ได้โดยเสรี ฟรี ไม่มีข้อผูกมัด รวมทั้งเปิดให้ธุรกิจและนักพัฒนาสามารถนำไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นำไปปรับปรุงต่อยอด (Finetuning) เพื่อสร้างการใช้งานหรือ Service ใหม่ๆ ได้

ตัวอย่างการนำไปใช้งาน อาทิ นำไปเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มแล้วใช้ภายในองค์กรเป็นพนักงานผู้ช่วย พนักงานขาย หรือการแปลงไฟล์ลายมือบนเอกสาร (ocr) ให้กลายเป็นไฟล์รูปแบบดิจิทัล หรือ format json เป็นต้น

กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวว่า โมเดลนี้สร้างขึ้นเพื่อประยุกต์ใช้เอไอในการทำงานต่างๆ ที่ต้องใช้ภาษาไทย เช่น การสร้างแชตบอตที่สามารถตอบคำถามภาษาไทยได้แม่นยำ การสร้างระบบสนับสนุน การตัดสินใจที่ใช้ภาษาไทย หรือแม้แต่การสร้างเอไอที่สามารถเขียน บทละครเรื่องราวที่มีความซับซ้อนในภาษาไทย โดยเปิดเป็นโอเพนซอร์ส ซึ่งจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีและสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมากมาย ก่อนหน้านี้ได้วางโรดแมปการพัฒนา OpenThaiGPT ไว้ 3 เวอร์ชันหลัก ประกอบด้วย

1. OpenthaiGPT 0.0.4 พูดคุย Chat ได้อยู่บ้าง แต่ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ตรงและยังไม่สามารถทำ Few Shot Learning 

2. OpenthaiGPT 0.1.0 แปลภาษา ไทย-อังกฤษ และทำ Few Shot Learning ได้บางส่วน สามารถเรียนรู้ได้ตนเอง ทำข้อสอบโอเน็ตได้ประมาณหนึ่ง

3. OpenthaiGPT 1.0.0 มีความสามารถสอบผ่านโอเน็ต ทำ Few shot learning แปลภาษา ไทย-อังกฤษ ทั้งเวอร์ชัน 2 และ 3 พูดคุย Chat ได้เต็มรูปแบบ

ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น เว็บไซต์พันทิป เพื่อรวบรวมฐานข้อมูลภายในประเทศไทยเป็น Dataset สอนโมเดลให้เอไอ เนื่องจากข้อมูลในพันทิปเป็นข้อมูลที่มีระยะเวลามาช้านาน และเป็นข้อมูลที่เผยสาธารณะ

“OpenThaiGPT เปิดโอกาสให้กับคนไทยสามารถตามทันความเร็วของเทคโนโลยี  ความตั้งใจของเรา ไม่ได้จะพัฒนาแค่กลุ่มเล็กๆ แต่ต้องการให้เกิดการรวมกลุ่มกัน เพราะงานด้านเอไอมีความหลากหลาย ภายใต้จังหวะที่เหมาะสมมากทั้งด้านข้อมูลและทรัพยากร ทั้งข้อมูลขนาดใหญ่จากพันทิป ที่ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและเป็นฐานเอไอของประเทศอย่างแท้จริง”

กอบกฤตย์ กล่าวอีกว่า  AI เป็นเมกะเทรนด์ของโลก การพัฒนาของไทยกำลังมาในทิศทางที่ดี โดยมีแผน AI แห่งชาติที่จะทำให้อันดับความสามารถทางด้าน AI ของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 31 จากเดิมอยู่ที่ 60 กว่า

อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง เรื่องร่างกฎหมายหรือ AI ACT ที่จัดประเภทความเสี่ยง AI ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงสูง จะต้องเข้าไปอยู่ในแซนด์บอกซ์ หากหน่วยงานรัฐตรวจสอบแล้วปลอดภัยถึงออกมาให้บริการได้ ขณะที่ต่างประเทศไม่มีกฎหมายมาควบคุม ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนา AI ของประเทศ ที่ปัจจุบันมีความล่าช้าเมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่แล้ว

Alisa ผู้ช่วยธุรกิจ

จรัญพัฒณ์ บุญยัง บริษัท รุ่งเรืองตลอดไป จำกัด (มหาชน) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแชตบอตอลิสา (Alisa) กล่าวว่า อลิสาเป็น Generative AI รายแรกของประเทศไทยที่ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากโมเดลปัญญาประดิษฐ์ GPT แต่ต้องการทำให้ใช้งานได้ง่ายมากขึ้น และมีความปลอดภัย ซึ่งสามารถรองรับทั้งตัวอักษรและรูปภาพ

บริษัทได้นำแชตบอตอลิสาที่พัฒนามาใช้งานภายในองค์กร ทั้งในด้านการตลาด การพัฒนาโปรแกรม การช่วยงานบรรณาธิการ การแปลภาษา เป็นต้น

“ทีมงานตั้งใจพัฒนาอลิสาให้ใช้ง่าย คล้ายคุยกับคนบนไลน์ผ่านการป้อนคีย์ลัด (prompt) ที่เป็นเสมือนคำสั่งให้เอไอทำงาน ข้อมูลของอลิสามีอัพเดตถึงปัจจุบัน และมีทั้งภาษาไทย-อังกฤษ สามารถช่วยเขียนโฆษณา เขียนแผนงานทั้งเดือน สร้างรูปภาพ ปรึกษาไอเดีย แปลภาษาได้คล้ายกับคน เขียนโค้ด ทำวิจัย ทำการตลาด สอนหนังสือ สรุปและแชตกับไฟล์ PDF Word Excel PPT Ebook URL เว็บไซต์อัตโนมัติ”

อลิสาเป็นเหมือนผู้ช่วยมนุษย์ มีระยะการทำงานเฉลี่ยไม่ถึง 1 นาที ทั้งนี้ อาจจะขึ้นอยู่กับความยากง่ายของประเภทงาน แต่อย่างไรก็ตาม อลิสาก็สามารถลดภาระงานให้กับผู้เข้าใช้ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานบนไลน์มากกว่า 1.8 ล้านคนในประเทศไทย

“ขณะนี้เป็นยุคของเอไอ เอไอจะทำให้เกิดการผันผวนครั้งใหญ่ ทั้งในด้านของ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งจะเกิดขึ้นรวดเร็วกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งก่อนๆ ของโลก และมีผลกระทบที่มากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้น การพัฒนาเอไอใช้ภายในประเทศถือเป็นเรื่องที่ทุกๆ อุตสาหกรรมต้องให้ความสำคัญ” จรัญพัฒณ์ กล่าว

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1084678