ญี่ปุ่นพัฒนา AI เพื่อตรวจจับนักเรียนที่ ‘แอบหลับ’ ในห้องเรียน

Share

Loading

แม้ AI จะมีความสามารถหลากหลาย แต่หลังๆ ก็เริ่มมีกฎระเบียบต่างๆ มาควบคุมการใช้งานมันมากขึ้น ซึ่งหมวดที่โดนกำกับดูแลมากสุดคือ AI จำพวก ‘ตรวจจับใบหน้า’ เพราะสุ่มเสี่ยงเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือละเมิดข้อมูลส่วนตัว

พูดอีกแบบก็คือ เทคโนโลยีวิเคราะห์ใบหน้าในที่เป็นสาธารณะในทางปฏิบัตินั้นอาจเอามาใช้จริงไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขด้านกฎหมาย นี่เป็นสิ่งที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซากา เคียวอิกุ พัฒนาร่วมกับ บริษัท คันไซเด็นกิโคเกียว ในปี 2023 โดยพวกเขาจับมือกันพัฒนาเทคโนโลยี ‘ตรวจจับการเคลื่อนไหว’ ผ่านภาพถ่ายคลื่นความร้อน

โดยมีการนำระบบนี้มาทดลองในมหาวิทยาลัยก่อน โดยเอามาลองดูว่านักศึกษาทำอะไรอยู่ในห้องเรียน ผลการทดลองพบว่า ความแม่นยำในการระบุพฤติกรรมของคนในภาพถ่ายมีถึง 90 เปอร์เซ็นต์

และที่น่าสนใจก็คือ เนื่องจากมันตรวจจับคลื่นความร้อน จึงสามารถแยกกิจกรรมจากอุณหภูมิร่างกายที่แตกต่างกันได้ด้วย เช่น แยกได้ว่าคนนั่งอยู่เฉยๆ หรือกำลังหลับ ดังนั้นเทคโนโลยีนี้ก็เลยมีชื่อเรียกเล่นๆ ว่า ‘เทคโนโลยีตรวจจับนักศึกษาที่หลับในห้อง’

แต่ทั้งหมดก็อย่างที่บอก ประเด็นของเทคโนโลยีคือมันเป็นเทคโนโลยีตรวจจับคลื่นความร้อน ดังนั้นมันจะ ‘ไม่เห็นหน้า’ ซึ่งนี่ทำให้เทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปพัฒนาใช้ในที่สาธารณะได้ด้วย ถ้าต้องการตรวจสอบพฤติกรรมคนในพื้นที่หนึ่งๆ โดยไม่ไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้คน

สุดท้าย ทีมวิจัยก็บอกว่า ความได้เปรียบของการตรวจสอบผ่านคลื่นความร้อนคือมันไม่จำเป็นต้องใช้ในที่สว่างที่ ‘เห็นหน้า’ ชัดๆ แต่มันเอาไปใช้ในที่ไม่มีแสงหรือที่มืดก็ยังได้เลย

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=865422258479445&set=a.811136580574680