Smart Governance ในประเทศไทย

Share

Loading

เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เป็นแนวคิดหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง ในส่วนของประเทศไทย สำนักงานเมืองอัจฉริยะ ภายใต้การกำกับของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ให้คำจำกัดความของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ไว้ว่า “เมืองอัจฉริยะ” คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชน ในการพัฒนาเมืองภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีมิติการพัฒนาได้หลายด้าน มีมิติที่สำคัญ 7 ด้านคือ

1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

2) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility)

3) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living)

4) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People)

5) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)

6) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)

7) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

Smart Governance ในไทย

Smart Governance เป็น 1 ใน 7 เสาหลักของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยในการพัฒนา Smart Governance ในไทย โครงการส่วนใหญ่จะมาในแนวทางของการพัฒนาองค์กรให้เป็น Smart Government และมีบางโครงการเริ่มมีการจัดสร้างเครือข่ายเพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน กล่าวได้ว่าเป็น Smart Government ที่เริ่มมีกลิ่นอายของการเป็น Smart Governance ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่ดีสำหรับการเป็น Smart Governance ในอนาคต

รายชื่อของเมืองอัจฉริยะทั้ง 15 เมือง

จากการวิเคราะห์เฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Smart Governance ของเมืองอัจฉริยะทั้ง 15 เมือง โดยที่ 15 เมืองมีแผนดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน รวมกันทั้งหมด 379 โครงการ มีโครงการพัฒนาทางด้าน Smart Governance ทั้งหมด 40 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.55 ของโครงการทั้งหมด เมื่อนำข้อมูลของโครงการมาหารูปแบของการให้บริการพบว่าโครงการส่วนใหญ่ถูกออกแบบมา เพื่ออำนวยความสะดวกของประชาชนในที่นี้ขอเรียกว่า Front Office Service ให้บริการในรูปแบบ Web Service, Mobile Application และ Call Center โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการกับภาคประชาชน และนำข้อมูลการใช้บริการมาปรับปรุงกระบวนภายในขององค์กรให้มีความยืดหยุ่น โปร่งใส ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการบางส่วนที่เน้นเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการภายใน (Back Office Service) ทั้งในส่วนของการนำระบบ e-Saraban เข้ามาใช้จัดการเอกสารภายใน หรือ พัฒนาระบบ Online Meeting Platform สำหรับบริหารการประชุมและ Asset Management สำหรับบริหารจัดการครุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวก ในการติดตามสถานะและปริมาณการใช้งานเป็นต้น ส่วนสุดท้ายเป็นการพัฒนา Data Platform ซึ่งการพัฒนาโครงข่ายสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันผ่านทาง API บน Cloud Service เพื่อนำข้อมูลทั้งหลายมาวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา ความต้องการ รวมไปถึงโอกาสในการลงทุนและนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วเผยแพร่สู่สาธารณะชน ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้จะมีคณะกรรมการด้าน Data Governance มาคอยกำกับดูแล อีกทอดหนึ่งทั้งในส่วนของความปลอดภัย (Cyber Security) ของข้อมูล จำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล (Authorization) และการอนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Data Exchange) ระหว่างหน่วยงาน จากข้อมูลทั้งหมดสามารถสรุปรูปแบบภาพรวมการให้บริการด้าน Smart Governance ได้ดังตาราง

สรุปภาพรวมการให้บริการด้าน Smart Governance ของเมืองอัจฉริยะ

ต่อมาจะขอยกตัวอย่างรายละเอียดโครงการบางส่วนที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยส่งเสริมการพัฒนาในมิติของ Smart Governance มีรายละเอียดดังนี้

1. แพลตฟอร์มการร้องเรียนปัญหาผ่านทาง Mobile Application (Line Official Account) จุดเด่นของโครงการนี้คือประชาชนสามารถแจ้งปัญหาทางด้านสาธารณูปโภค ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือ ปัญหา อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรงผ่านทางหน้าจอมือถือ รวมไปถึงติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานเรื่องที่ได้ทำการร้องเรียน ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐก็สามารถใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลเกี่ยวกับสาธารณภัยหรือข้อมูลกิจกรรมสำคัญของเมืองไปยังประชาชนในพื้นที่โดยตรง และสามารถนำข้อมูลการร้องเรียนต่าง ๆ ไปวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนเกิดปัญหาอะไร เกิดบ่อยแค่ไหน หรือ เกิดช่วงไหนเป็นพิเศษ ช่วยให้ผู้ดูแลพื้นที่สามารถออกมาตรการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที ตัวอย่างการทำงานของ Line OA ได้แสดงไว้ดังรูป

ตัวอย่างการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชนผ่านทาง Line OA

2. แพลตฟอร์มบริการประชาชนแบบ One Stop Service แพลตฟอร์มนี้ออกแบบมาให้แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ต้องไปรอยื่นเรื่องขอเอกสาร หรือ ดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ประชาชนสามารถยื่นเรื่องผ่านทาง Web Portal หรือ Mobile Application ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่สำนักงาน ส่งผลให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะที่ต้องใช้ในการเดินทาง หน่วยงานลดปริมาณการใช้กระดาษลงในกรณีที่มีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ ประชาชนผู้เข้ามาใช้บริการก็สามารถชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบ e-payment ได้อีกด้วย นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถติดตามความก้าวหน้าของเอกสารได้แบบ Real-time รวมไปถึงเป็นการเพิ่มช่องทางที่ภาครัฐใช้ในการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนเพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต ตัวอย่างการทำงานของแพลตฟอร์มบริการประชาชนแบบ One Stop Service เป็นดังรูป

ตัวอย่าง Portal ของการให้บริการประชาชนแบบ One Stop Service

3. E-Saraban ระบบนี้ถูกนำมาใช้กับการจัดการหนังสือราชการภายในและภายนอกหน่วยงาน โดยมีจุดประสงค์ในการลดการใช้กระดาษ ผู้มีอำนาจอนุมัติเอกสารสามารถอนุมัติเอกสารได้ทุกที่ทุกเวลา ผู้ปฏิบัติงานสามารถติดตามความคืบหน้าของการอนุมัติตามลำดับชั้น

ตัวอย่างการทำงานของระบบ e-Saraban

4. Intelligence operation center: IOC IOC หรือ ศูนย์สั่งการอัจฉริยะ เป็นระบบที่ใช้ในการติดตาม เฝ้าระวังและบริหารจัดการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ โดยที่ระบบนี้จะทำงานร่วมกับ Cloud Platform ที่ช่วยในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ จากนั้นนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ไปแสดงผลบนหน้าจอ IOC ตัวอย่างของข้อมูลที่นำมาแสดงผล เช่น ข้อมูลคุณภาพอากาศ เชิงพื้นที่ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเชิงพื้นที่ ข้อมูลความถี่ในการร้องเรียนปัญหา ข้อมูลการจราจร ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำ ใช้ไฟ เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ถูกจุดและทันท่วงที

ตัวอย่างการทำงานของ Intelligence Operation Platform (IOC)

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประเทศไทยเริ่มมีการผลักดันการนำเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลมาใช้ในการปฏิรูปองค์กรและใช้เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ยังเริ่มมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มมิติและความสมบูรณ์ของข้อมูลก่อนนำไปวิเคราะห์เชิงลึกแล้วจึงนำข้อมูลเหล่านั้นไปเผยแพร่สู่สาธารณะชน ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นอาจทำให้ภาคเอกชนเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ ส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น รายได้ของประชาชนในพื้นที่สูงขึ้น อัตราการว่างงานลดลง แต่ในการดำเนินงานข้างต้นยังไม่ถือว่าเป็น Smart Governance อย่างแท้จริง ยังขาดขั้นตอนของการรับฟังเสียงของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน (ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคการศึกษา) และนำเสียงเหล่านั้นมาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจก่อนออกนโยบายบริหารจัดการภายในท้องถิ่น ถ้าในอนาคตสามารถดำเนินการได้ถึงขั้นนั้นก็จะถือได้ว่าเมืองนั้นเป็นเมืองแห่ง Smart Governance อย่างแท้จริง

แหล่งข้อมูล

https://www.depa.or.th/th/article-view/smart-governance