Smart Tourism หรือโครงการที่จะช่วยบูรณาการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นระบบมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกในการค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยว สภาพอากาศ แหล่งที่พัก การเดินทาง และยังเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงให้ความสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดท่องเที่ยวโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียและอาเซียนต่างกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศตนเพิ่มมากขึ้น ภารกิจด้านการท่องเที่ยวจึงเป็นภารกิจที่ถูกผสมผสานกลมกลืนไปกับการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ดังนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศต่าง ๆ จึงได้มีการบูรณาการงานด้านการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งหากประเทศใดมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่ชัดเจนบนพื้นฐานของเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ และบุคลากรภาคการท่องเที่ยวมีศักยภาพด้วยแล้ว จะเป็นปัจจัยสําคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศนั้น ๆ มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวของตนให้เติบโตได้อย่างมั่นคง
ซึ่งระบบการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ Smart City ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDE) ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์ และทรัพยากรอื่นใดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ กล่าวคือหน่วยงานจะมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประสิทธิภาพสูงที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้แบบทุกที่ ทุกเวลา โดยกำหนดให้เทคโนโลยีที่ใช้มีความเร็วพอเพียงกับความต้องการ และมีราคาค่าบริการที่ไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของประชาชนอีกต่อไป นอกจากนี้ ในระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะกลายเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อของทุกคนและทุกสรรพสิ่ง
ความท้าทายของธุรกิจท่องเที่ยว
ในแต่ละปี นักท่องเที่ยวจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศที่สามารถทำเงินให้กับประเทศไทยจำนวนมาก ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวระบุว่าในไตรมาสแรกของปี 2559 มูลค่าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูงถึง 1.24 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2560 และถึงแม้การท่องเที่ยวไทยอาจจะดูมีมูลค่าสูง แต่กระแสการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปัจจุบันได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่และเก่าจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดและรักษาธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกไร้พรมแดนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการในไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวมากขึ้น การอาศัยรูปแบบธุรกิจแบบเดิมคงไม่ใช่เส้นทางที่สดใส เมื่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งในโลกไซเบอร์ การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและแอพพลิเคชั่นได้พลิกโฉมวิถีการท่องเที่ยว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลงใหลในการเดินทางสามารถค้นหาข้อมูล รวมถึงวางแผนการเดินทางได้ล่วงหน้า และเมื่ออินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวยุคใหม่ อินเทอร์เน็ตก็ได้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และการสูญเสียโอกาสหากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทัน
ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย หนึ่งในองค์กรที่ให้การสนับสนุนธุรกิจโรงแรมในด้านต่าง ๆ ได้เห็นถึงความสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ปฏิรูปธุรกิจโรงแรม โดยกล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตเสียอีก
ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน โรงแรมใหญ่ ๆ จะมีตู้เมนเฟรมเป็นของตัวเองเพื่อใช้เก็บข้อมูลต่าง ๆ แต่พอมีอินเทอร์เน็ตเข้ามา ทางโรงแรมต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกไร้พรมแดนมากขึ้น สิ่งสำคัญคือเรื่องของการทำ Online Marketing ที่หลายโรงแรมยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวรูปแบบนี้ และยังคงยึดถือการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่ธุรกิจจะต้องล้มละลายไป สมาคมจึงจำเป็นต้องจัดอบรมให้แก่สมาชิก เพื่อให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของอินเทอร์เน็ต และนำมาเป็นเครื่องมือที่สร้างรายได้ให้กับธุรกิจของพวกเขา
ปัจจุบันโรงแรมระดับใหญ่ ๆ ในตัวเมืองหรือโซนจังหวัดท่องเที่ยวยังไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะมีการนำเทคโนโลยีเข้าไปบริหารงานอย่างเต็มรูปแบบทั้ง ERP และ Online Marketing แต่โรงแรมตั้งแต่ขนาดกลางลงมายังไม่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารงานภายในได้ เพราะยังขาดต้นทุน และผู้ดูแลระบบ แต่ในส่วนของ Online Marketing ทางสมาคมสามารถอบรมให้พวกเขาใช้สื่อตัวแทนในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงแทนได้ เช่น Facebook หรือสื่อโซเชียลอื่น ๆ เพื่อให้มีขีดการแข่งขันทัดเทียมกัน และตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
แนวโน้มของพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว
เนื่องด้วยสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้งจากกระแสโลกาภิวัตน์ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถรองรับและสอดคล้องกับความต้องการและความเป็นไปของตลาด เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกซึ่งได้มีการเติบโตและวิวัฒนาการสู่อนาคตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดความแพร่หลายของเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันที่เพิ่มมากขึ้น สื่อสังคมออนไลน์หรือช่องทางออนไลน์มีส่วนสำคัญในการเติมเต็มและเพิ่มความสะดวกสบายตลอดการเดินทางของนักท่องเที่ยว
จากการคาดการณ์ของ Euromonitor พบว่า อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของการใช้ช่องทางออนไลน์สำหรับการท่องเที่ยวทั่วโลก (Global online travel revenues growth) มีมากกว่า 10% ต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 166 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2554 เป็น 363 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานทางระบบสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยในปัจจุบัน รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการลงทุนพัฒนาและส่งเสริมระบบการท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ให้กับธุรกิจท้องถิ่น เพื่อตอบสนองต่อแนวโน้มการท่องเที่ยวที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
Tourism ส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ Smart City
ระบบการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เมืองทั้งเมืองกลายเป็น Smart City ซึ่งถ้าพูดถึง Smart City หลาย ๆ ประเทศก็มีรูปแบบการเริ่มต้นแตกต่างกันไป บางประเทศอาจจะเริ่มต้นในเรื่องของ Smart Safety ในการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน
บางประเทศอาจจะเริ่มต้นด้วย Smart Health ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็วและมีคุณภาพ สำหรับประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก ก็มีแบบแผนในการพัฒนาให้เมืองท่องเที่ยวกลายกลายเป็น Smart City เช่นกัน ยกตัวอย่าง ภูเก็ตสมาร์ตซิตี้ เพราะสิ่งที่น่าสนใจคือเมืองนี้มีขนาดพื้นที่ของจังหวัดที่ไม่ใหญ่มาก และโครงสร้างประชากรในพื้นที่ที่มีอยู่เพียง 378,364 คน แต่มีนักท่องเที่ยวในปี 2557 สูงถึง 11,855,000 คน หรือคิดเป็น 3 เท่าของประชากรในพื้นที่ และในจำนวนนักท่องเที่ยวนี้เป็นชาวต่างชาติถึง 70% จึงเหมาะสมที่จะสนับสนุนให้กลายเป็น ระบบการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวมากที่สุด
ซึ่งในช่วงแรกภูเก็ตได้ติดตั้งเสาสัญญา Free WIFI ความเร็วสูงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยว แต่หลังจากนี้ไม่นาน ภูเก็ตจะสร้างระบบที่วิเคราะห์การจราจรแบบเรียลไทม์ พร้อมทั้งเซนเซอร์ในการวัดมลพิษ วัดระดับน้ำ สภาพอากาศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์เพื่อใช้การวางแผนท่องเที่ยว ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวไม่เพียงให้ประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่จะนำพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบใหม่ โดยอาศัยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ผสานกับเทคโนโลยีอัจฉริยะที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการและบริการการท่องเที่ยว
ซึ่งเราสามารถอาศัยระบบการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว สำรวจความต้องการของนักท่องเที่ยว เพื่อนำเสนอบริการเฉพาะและตรงความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละราย ซึ่งจะช่วยยกระดับความอัจฉริยะของธุรกิจการท่องเที่ยว บริหารจัดการข้อมูลและสารสนเทศ ตลอดจนบริการการท่องเที่ยวให้มีความเป็นระบบ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการใช้จ่ายแก่นักท่องเที่ยวด้วย
แหล่งข้อมูล
https://www.theeleader.com/news-enterprise/smart-tourism-the-pace-of-modern-travel-upgrades/