ปารีสกลายเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของยุโรป ที่ห้ามใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบให้เช่า เพราะมันทั้งเสี่ยง ทั้งอันตราย และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก “มากกว่ารถไฟใต้ดิน” ถึง 6 เท่า เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งระบบการเดินทางที่ไม่ได้รักษ์โลกจริงซะทีเดียว
ปารีส ห้ามใช้ “สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า”
หากพูดถึงรูปแบบของยานพาหนะที่ใช้งานบนท้องถนนในบ้านเรา อาจจะมีการพบเห็น สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ให้เห็นบ้างประปรายในถนนใหญ่บางสาย และบางครั้งก็เกิดกรณีถกเถียงกัน เพราะประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยที่ยานพาหนะขนาดเล็กชิ้นนี้ จะออกมาวิ่งปะปนบนถนนสายหลัก เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้ ทั้งต่อตัวผู้ขับเองและผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ และนั่นก็คือสาเหตุหลักที่ขณะนี้ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เป็นประเทศแรกในยุโรป ที่ออกมาแบนการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ
โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ปารีสได้กลายเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของยุโรป ที่สั่งห้ามใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าเพื่อเดินทางในตัวเมือง เพราะชาวปารีสจำนวนมากเบื่อหน่ายกับการเห็นพวกเขาซิกแซกไปมาระหว่างคนเดินถนน แม้ว่าจะจำกัดความเร็วไว้ที่ 10 กม./ชม. ในบางโซน หรือจอดรถไว้กลางทางเท้า และการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ก็ทำเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยด้วย
เหตุผลที่ต้องแบนการให้บริการเช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
ชาวปารีสได้ลงมติกันตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ในเรื่องของการห้ามให้บริการเช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า บนท้องถนนในเมืองหลวง บนเว็บไซต์ “ซิตี้ ออฟ ปารีส” โดยมีสัดส่วนตัวเลขของผู้ที่โหวต ห้ามใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอยู่ที่ 85.77 เปอร์เซ็นต์ และ 91.77 เปอร์เซ็นต์ ใน 20 เขตของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อลดสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสกู๊ตเตอร์ในฝรั่งเศส
เนื่องจากในปี พ.ศ. 2564 มีข้อมูลสถิติ ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับสกู๊ตเตอร์ในฝรั่งเศส 24 ราย และอีก 1 คน ในกรุงปารีส นอกจากนี้เมื่อปี พ.ศ. 2565 มีการบันทึกอุบัติเหตุที่เกิดจากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และยานพาหนะที่คล้ายคลึงกันได้ถึง 459 ครั้ง ซึ่งเป็นอุบัติเหตุร้ายแรง 3 ครั้ง ในกรุงปารีส
“สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า” ไม่รักษ์โลกจริง!
หลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่า การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มีส่วนช่วยในการลดมลภาวะจริงหรือไม่ เพราะแม้พาหนะชนิดนี้ จะมีขนาดเล็ก ดูเหมือนจะใช้พลังงานไฟฟ้าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับพาหนะขนาดใหญ่อื่นๆ
แต่จากการศึกษาในกรุงปารีส แสดงให้เห็นว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ 0.6 กิโลกรัม CO2 ต่อ 10 กิโลเมตร มากกว่ารถไฟใต้ดินถึง 6 เท่า (แม้ว่าจะน้อยกว่ารถยนต์ถึง 3 เท่าก็ตาม)
และมีเพียง 13% ของการเดินทางด้วยสกู๊ตเตอร์เท่านั้น ที่จะใช้แทนที่การเดินทางด้วยรถยนต์ แท็กซี่ หรือรถบัส ดังนั้น สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จึงกลายมาเป็นยานพาหนะแทนที่วิธีการขนส่งที่มีมลพิษน้อยกว่าเช่น จักรยาน หรือการเดินเท้า
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการกำจัดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจากผู้ใช้งานอีกด้วย ใน Swans’ Island ของกรุงปารีส ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเกาะ Scooters’ หลังนักตกปลาหลายคนแชร์วิดีโอของพวกเขาบนโซเชียลมีเดีย แสดงภาพซากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ถูกดึงขึ้นมาจากน้ำ
นักตกปลารายหนึ่งระบุว่า เฉพาะเขาคนเดียวเก็บเศษซากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอย่างน้อย 170 คันในช่วงเวลาประมาณสามปี โดยไม่เข้าใจว่าทำไมถึงโยนซากสกู๊ตเตอร์ลงน้ำ เพราะชิ้นส่วนโดยเฉพาะแบตเตอรี่ จะสร้างมลภาวะให้กับน้ำอย่างรุนแรง
จริงๆแล้วสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าควรจะขี่ที่ไหนกันแน่ ทางเท้า หรือถนน?
ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือผู้คนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า สามารถใช้บนทางเท้าหรือทางจักรยานได้หรือไม่? แม้หลายประเทศจะอนุญาตให้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดต่างๆกัน เนื่องจากปัจจุบัน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ได้รับการออกแบบและพัฒนาให้มีขนาดและคุณสมบัติที่หลากหลาย บางรุ่นสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่า 150 กิโลกรัม และสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วใกล้เคียงกับมอเตอร์ไซค์ เมื่อนำมาใช้บนผิวจราจร ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ เพราะมีขนาดเล็ก อาจทำให้ผู้ขับขี่รายอื่นไม่ทันสังเกต หรือหากนำมาวิ่งบนทางเท้า ก็อาจเฉี่ยวชนผู้อื่นได้ง่าย
ดังนั้นการอนุญาตสำหรับการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนเส้นทางจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละเมือง ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น ในยุโรปส่วนใหญ่ ผู้ขับขี่ได้รับอนุญาตให้ใช้เส้นทางจักรยานได้ในหลายประเทศ แต่ไม่ใช่ในกรีซ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ หรือสหราชอาณาจักร
กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ทางเท้ามีความเข้มงวดมากขึ้น ใน 15 จาก 21 ประเทศยุโรป ไม่อนุญาตให้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนทางเท้า อนุญาตเฉพาะในเบลเยียม บัลแกเรีย เอสโตเนีย ฟินแลนด์ สโลวาเกีย และสวีเดนเท่านั้น
กฎหมายคร่าวๆของแต่ละประเทศเกี่ยวกับการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
- ไทย : สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสามารถนำมาใช้ได้ในพื้นที่บริเวณบ้านพักส่วนบุคคล หรือในซอยส่วนบุคคล หรือวิ่งได้ในเส้นทางเฉพาะเท่านั้น ห้ามนำไปวิ่งบนถนนสาธารณะตามข้อกฎหมาย พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 7 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียน แผ่นป้ายเครื่องหมายเลขทะเบียน หรือป้ายประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่ง กฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน กฎหมายว่าด้วยรถลาก หรือกฎหมายว่าด้วยรถจ้าง มาใช้ในทางเดินรถ”
- สหรัฐอเมริกา : อนุญาตให้ขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนทางเท้าหรือถนนได้ (แล้วแต่กฎหมายของแต่ละรัฐ) โดยส่วนใหญ่จะต้องเป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าชนิดยืนขี่ หรือจักรยานไฟฟ้าที่มีมอเตอร์กำลังไฟฟ้าต่ำกว่า 750 วัตต์ หรือทำความเร็วได้ไม่ถึง 20 ไมล์/ชั่วโมง (ประมาณ 32 กม./ชม.) เท่านั้น
- สวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย : อนุโลมให้ขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนถนนได้ แต่ต้องใช้ความเร็วอยู่ที่ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น
- เยอรมนี : ถ้าจะขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนทางเท้า จะต้องใช้ความเร็ว 6 กิโลเมตร/ชั่วโมงเท่านั้น
- อังกฤษ : ไม่อนุญาตให้ขับขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนถนน เลนจักรยาน และทางเท้า (ห้ามทั้งหมด) หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย
สำหรับประเทศฝรั่งเศส ที่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าถูกแบนไปแล้วนั้น หลายๆคนก็เปลี่ยนกลับมาใช้จักรยานแทน และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็ค่อยๆเริ่มถูกทยอยนำออกจากเมืองเรื่อยๆ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญไม่น้อย เพราะที่ผ่านมา มีผู้ใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าหลายแสนคัน บางคนก็ชินกับการใช้สกู๊ตเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่าจักรยาน เร็วและสะดวกกว่าด้วย
แต่ถึงอย่างไร แม้จักรยานดูจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่ผู้ใช้งานหลายคน ยังมองว่า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า มีความสะดวกและไม่ได้สร้างมลพิษเท่ากับยานพาหนะรูปแบบอื่น แต่ความไม่ชัดเจนของกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ทำให้การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ายังอยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะประเทศไทย ที่ยังคงไม่อนุญาตให้นำมาใช้งานในพื้นที่สาธารณะ การจะซื้อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาใช้งาน จึงควรพิจารณาข้อจำกัดและประโยชน์การใช้งานให้ดี
แหล่งข้อมูล