รู้จักหน้าที่ “ตำรวจไซเบอร์” มีหน้าที่อะไร ดูแลคดีแบบไหนบ้าง

Share

Loading

รู้จักขอบเขตหน้าที่ของ “ตำรวจไซเบอร์” ที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลและสืบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และตรวจสอบ วิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยการจัดตั้งหน่วยงานระดับ “กองบัญชาการ” ขึ้นใหม่ คือ “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)” หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์” เพื่อวิเคราะห์สาเหตุ รูปแบบ เครือข่ายการกระทำอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มีความสลับซับซ้อน และมีผลกระทบต่อประชาชนให้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูง

“กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หรือ “กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์” ถูกจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563

“กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์” จะทำหน้าที่ในการรับผิดชอบ สืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในคดีที่มีความซับซ้อนหรือเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ได้แก่

  1. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป
  2. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีจำนวนผู้เสียหายรวมกันตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
  3. คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีทั้งมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไปและมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
  4. คดีที่มีการกระทำความผิดเป็นขบวนการหรือกลุ่มบุคคลซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน
  5. คดีที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
  6. คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  7. คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ

อำนาจหน้าที่ของตำรวจไซเบอร์ ได้แก่

  1. ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์และกู้พยานหลักฐานดิจิทัล การตรวจสถานที่เกิดเหตุและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของหน่วยงานต่าง ๆ
  2. ดำเนินการสืบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีร่วมกับฝ่ายปฏิบัติการหรือหน่วยงานอื่นตามที่ได้รับการร้องขอ
  3. ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการให้ความรู้ การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน และแสวงหาการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งจัดทำแผนงานและโครงการต่าง ๆ เพื่อการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
  4. ดำเนินการพัฒนาบุคลากรด้านการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  5. ดำเนินการเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูล การตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี รวมทั้งการวิเคราะห์การทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
  6. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือองค์การอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานป้องกันและปราบปราม และงานสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  7. ดำเนินการเกี่ยวกับงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
  8. พัฒนาเทคนิคการสืบสวน นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและเครื่องมือพิเศษเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
  9. ดำเนินการเกี่ยวกับการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ศึกษาดูงาน ฝึกอบรมด้านการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  10. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/digital-tech/843548