ปัจจุบัน ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชนต่างให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
โดยเฉพาะการใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์พลาสติกได้อย่างเต็มวงจรชีวิต เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า และมีการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
เห็นได้ชัดจากการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งมีกำหนดให้มีการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2570 (ดังภาพ)
เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สร้างขยะมากที่สุดในประเทศ ขยะส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยวิธีฝังกลบ และมีขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์เพียง ร้อยละ 30
จึงได้มีแนวทางการจัดการขยะโดยใช้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี พ.ศ. 2556-2575 ซึ่งตั้งเป้าหมายนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ทำขยะให้เหลือน้อยที่สุด และกำจัดที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ
เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นระบบเศรษฐกิจที่เน้นการออกแบบเพื่อการปรับตัวระยะยาว โดยการอนุรักษ์และเพิ่มการใช้ประโยชน์ต้นทุนทางธรรมชาติ ด้วยการควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และใช้ทรัพยากรหมุนเวียนให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น ผ่านการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ สินค้าที่หมดอายุ และพลังงาน ให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, 2562)
กรณีการปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาขยะ เช่นเดียวกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอื่น ๆ ประกอบกับเกาะลันตาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มีปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่มากกว่า 45,000 ตัน ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อม ขยะที่เกิดขึ้นทุกวันโดยขาดการคัดแยกที่ดีและการจัดการที่ดี
ด้วยข้อจำกัดด้านสถานที่และศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ส่งกลิ่นเน่าเหม็นและมีแมลงวันชุกชุม ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และบางส่วนหลุดรอดลงสู่ทะเล
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 เกาะลันตาได้รับการสนับสนุน จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และกลุ่ม PPP Plastics ได้พัฒนาฐานข้อมูลและจัดการองค์ความรู้ด้วยการสำรวจองค์ประกอบขยะ รวบรวม และวิเคราะห์ปริมาณและมูลค่าพลาสติก
ทำให้พบว่าขยะเกิดขึ้นในเกาะลันตามีประมาณ 46 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกที่ยังมีราคาและสามารถดึงกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ แต่ยังขาดการจัดการ ร้อยละ 24
ขยะอินทรีย์ ยังไม่ถูกจัดการและนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ร้อยละ 45 นอกจากนี้ เป็นขยะทั่วไปและอื่น ๆ
จากข้อมูลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดการขยะพลาสติกและขยะอินทรีย์ควบคู่กันไป โดยมีการขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติก ดังนี้
- ส่งเสริมการจัดการต้นทางตั้งแต่ครัวเรือน ตั้งจุดรวบรวมพลาสติก HDPE และ PP และจัดตั้ง Waste Station จุดรวบรวมและคัดแยกขยะในงานเทศกาลการท่องเที่ยวในเกาะลันตาและใกล้เคียง สนับสนุนการรวบรวมไปเพิ่มมูลค่า ให้เกิดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม โดยการคัดแยกเข้าสู่วงจรรีไซเคิล ผ่านกลุ่มลันตารีไซเคิล หรือ Lanta Recycling Club) และการคัดแยกเพื่อไป Upcycling เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
- เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกลางทาง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดเวลาและวันเก็บ วันทิ้งขยะรีไซเคิลรวบรวมส่งต่อกลุ่มลันตารีไซเคิลและขยะเป็นพิษรวบรวมส่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่
- สนับสนุนการจัดการปลายทาง จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การจัดการพลาสติกอำเภอเกาะลันตา หรือ Lanta Plas Center เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์พลาสติกได้อย่างเต็มวงจรชีวิต
- เพิ่มการหมุนเวียนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ลดขยะกำจัดปลายทาง และสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น
- พัฒนาศักยภาพและกลไกชุมชน ทั้งผู้นำและผู้แทนชุมชน รวมทั้งกลไกอื่น ๆ ที่ช่วยระดมความร่วมมือในชุมชน สานความร่วมมือกับภายนอก และขับเคลื่อนกิจกรรมให้เกิดความต่อเนื่องในอนาคต ตลอดจนการพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชน เข้ามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยที่ต้นทาง โดยการสร้างความตระหนักและสร้างความรู้ความเข้าใจ
- สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่เกาะลันตา โดยมีนายอำเภอเกาะลันตาเป็นแกนนำ ประสานและเสนอนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยในระดับจังหวัด ให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่การจัดการต้นทางสู่ปลายทางอย่างเป็นระบบ
ส่วนการจัดการขยะอินทรีย์ ให้ความสำคัญต่อการคัดแยกและนำเศษอาหารและขยะอินทรีย์อื่น ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการจับคู่ระหว่างโรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหารกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อรวบรวมและนำเศษอาหารไปเลี้ยงเป็ดไข่-ไก่ไข่ ส่งต่อไข่เป็ด-ไข่ไก่ออร์แกนิคสู่ชุมชนและนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ สนับสนุนให้เกษตรกร โรงแรม และรีสอร์ทได้ใช้ปุ๋ยที่ผลิตในพื้นที่และมีคุณภาพสูง เพื่อนำไปสู่ Zero Food Waste to Lanfill
จากความพยายามของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการขับเคลื่อนการจัดการขยะและพลาสติก เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการจัดการขยะต้นทาง เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกลางทาง และลดปริมาณขยะกำจัดปลายทาง โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ให้เต็มวงจรชีวิต ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า และมีการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สิ่งสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน จะต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และชุมชน รวมทั้งการสร้างความตระหนักและการเรียนรู้สำหรับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของชุมชน
แหล่งข้อมูล