รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ ผนึก ทรู ดิจิทัล ดึงเทคโนโลยีสุดล้ำ ยกระดับบริการทางการแพทย์ของไทย เปิดตัว “หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน”
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป และทีมพัฒนาหุ่นยนต์ สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี ต่อยอดนวัตกรรมโดยนำหุ่นยนต์มาใช้อำนวยความสะดวกและให้บริการผู้ป่วยทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์
นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ให้ก้าวล้ำทันสมัย เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย อีกทั้งทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยงจากการได้รับรังสีโดยตรงในระหว่างที่ให้บริการรักษาแก่ผู้ป่วย ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงทีมพัฒนาหุ่นยนต์ สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ฝ่ายรังสีวิทยา และทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการรักษา การวิจัย รวมถึงช่วยกันสรรสร้างนวัตกรรมต่างๆ ทางการแพทย์ ให้มีความครอบคลุมก้าวล้ำทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยง รวมถึงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และได้รับประโยชน์สูงสุดในด้านการรักษา
นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็ง ตลอดจนเสริมสร้างสังคมไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สะท้อนวิสัยทัศน์ของทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี (Telecom-Tech Company)
ซึ่งการพัฒนานวัตกรรม “หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน” ภายใต้ความร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของทรูที่ได้ต่อยอด นำประสบการณ์จากการทำงานและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับทีมแพทย์ของไทยมาอย่างยาวนาน ผสานความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรของทรู เข้ากับองค์ความรู้ของแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ระดับแนวหน้าของประเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ได้สำเร็จอีกครั้ง ก่อเกิดนวัตกรรมในการให้บริการทางการแพทย์ในยุคดิจิทัลที่ก้าวล้ำมากกว่าที่เคยมีมา และเป็นครั้งแรกของไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์สนับสนุนการให้บริการด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์
โดยหุ่นยนต์สามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งการให้บริการผู้ป่วย ควบคู่กับการมีบทบาทสำคัญ คือ การเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ลดปริมาณรังสีที่จะได้รับโดยตรงจากการปฏิบัติงานประจำในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ จึงช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคจากการที่ได้รับรังสีสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานานๆ ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น ขณะที่ยังคงให้บริการได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เชื่อมั่นว่า นวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญของการให้บริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีนในประเทศไทย และทรู ดิจิทัล จะเดินหน้าต่อยอดความสามารถของหุ่นยนต์ให้ก้าวล้ำยิ่งขึ้น รวมถึงสานต่อความร่วมมือ ขยายการใช้งานให้แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของวงการการแพทย์และยกระดับบริการสาธารณสุขของไทย ตลอดจนเติมเต็มวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล และสร้างคุณค่าต่อคนไทย เศรษฐกิจ และสังคมไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป
หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน ถูกออกแบบโดยผสานความเป็นมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยี Human-Tech Technology ในแนวคิด Humanize มีรูปลักษณ์ลวดลายสีสัน หน้าจอและเสียงที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เพิ่มสัมผัสและปฏิสัมพันธ์แบบคล้ายมนุษย์ สร้างรอยยิ้มและความพึงพอใจให้คนไข้ โดยสามารถสั่งการและควบคุมผ่านแท็บเล็ต เชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G รองรับการสื่อสารแบบเรียลไทม์ ที่ให้ทั้งความเร็วในการสื่อสาร ความเสถียร และความปลอดภัยสูงสุดของข้อมูล โดยมีฟังก์ชันที่โดดเด่น ดังนี้
- ส่งสารรังสีไอโอดีน ยา เวชภัณฑ์ และ อาหาร ให้แก่ผู้ป่วยในพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วย
- การแพทย์ระยะไกล ผ่านระบบวิดีโอคอล อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างแพทย์ พยาบาลและผู้ป่วย เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- วัดสัญญาณชีพของผู้ป่วยในระหว่างที่เข้ารับการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน โดยสามารถเชื่อมโยงส่งข้อมูลภาพและผลตรวจแบบเรียลไทม์ พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์
- ตรวจสอบการเปรอะเปื้อนรังสีในพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วยภายหลังจากผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยแสดงผลของปริมาณรังสีในรูปแบบ Heat Map ด้วยสีที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ เพิ่มความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการเข้าดูแลพื้นที่ให้บริการหรือห้องพักผู้ป่วย ที่อาจมีการเปรอะเปื้อนรังสีอยู่ในปริมาณมาก
แหล่งข้อมูล